สหรัฐฯ ในวันอังคาร (30 มี.ค.) สั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลอเมริกาที่ไม่มีกิจจำเป็นและครอบครัว เดินทางออกจากพม่า สืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบ ตามเหตุกองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเรียกร้องบริษัทต่างชาติทั้งหลายพิจารณาตัดความสัมพันธ์กับภาคธุรกิจต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนทหารพม่า
พม่า หรือเมียนมา ตกอยู่ท่ามกลางความยุ่งเหยิงมาตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารโค่นอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของนางอองซานซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พร้อมควบคุมตัวเธอ และกลับสู่การปกครองโดยทหาร หลังจากเว้นว่างราว 1 ทศวรรษ
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในคำแนะนำด้านการเดินทางเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ว่า อนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลอเมริกาที่ไม่มีกิจจำเป็นและครอบครัวสมัครใจเดินทางออกจากพม่า และล่าสุดในวันอังคาร (30 มี.ค.) ได้ปรับปรุงคำแนะนำเป็นคำสั่งให้เดินทางออกมา
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากเมื่อวันจันทร์ (29 มี.ค.) ทำเนียบขาวประณามเหตุเข่นฆ่าพลเรือนหลายสิบคนของรัฐบาลทหารพม่า และเรียกร้องครั้งใหม่ให้คืนสู่ประชาธิปไตย นอกจากนี้แล้วในวันเดียวกัน อเมริกายังได้ระงับความร่วมมือทั้งหมดกับพม่า ภายใต้ข้อตกลงการค้าและการลงทุนใน 2013 จนกว่าจะคืนอำนาจแก่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
มีพลเรือนถูกสังหารแล้วอย่างน้อย 512 คนในช่วงเวลาเกือบ 2 เดือนของการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร ในนั้น 141 คนเสียชีวิตเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (27 มี.ค.) นับเป็นวันนองเลือดที่สุดของสถานการณ์ความไม่สงบ
ในวันอังคารเช่นกัน (30 มี.ค.) แอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกร้องบริษัทนานาชาติพิจารณาตัดความสัมพันธ์กับบริษัทต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนกองทัพพม่า พร้อมคร่ำครวญต่อปฏิบัติการปราบปรามพวกผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหาร
ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ประณามซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อการก่อรัฐประหารโค่นอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรมาแล้วหลายรอบ แต่บรรดานายพลของพม่ายังคงปฏิเสธเปลี่ยนเส้นทาง
บลินเคน บอกว่าประเทศอื่นๆ และบริษัทต่างๆ ทั่วโลกควรพิจารณาถอนการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ จากการลงทุนในธุรกิจทั้งหลายที่ให้การสนับสนุนกองทัพพม่า
“พวกเขาควรตรวจสอบการลงทุนเหล่านั้น และพิจารณาทบทวนมันใหม่ ในฐานะเป็นหนทางหนึ่งสำหรับปฏิเสธให้การสนับสนุนทางการเงินแก่กองทัพ ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับค้ำจุนกองทัพในการต้านทานเจตนารมณ์ของประชาชน” เขากล่าว
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สหรัฐฯ คว่ำบาตร 2 กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ที่กองทัพเป็นเจ้าของ ห้ามบริษัทต่างๆ ของอเมริกาและพลเรือนสหรัฐฯ ทำธุรกิจกับพวกเขา
อย่างไรก็ตาม พวกนักเคลื่อนไหวเปิดเผยว่า บางบริษัทในนั้นรวมถึงบริษัทจากพันธมิตรทั้งหลายของสหรัฐฯ ในภูมิภาค อย่างเช่นญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ยังคงมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทต่างๆ ที่มีกองทัพม่าเป็นเจ้าของ
พวกนักเคลื่อนไหวยังได้เรียกร้องเหล่าบริษัททพลังงานระหว่างประเทศ อาทิ เชฟรอน ซึ่งมีสำนักงานในสหรัฐฯ อายัดรายได้จากโครงการก๊าซธรรมชาติของพวกเขาในพม่า จากรัฐบาลที่ควบคุมโดยคณะรัฐประหาร
(ที่มา : รอยเตอร์)