จำนวนผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมป่าเถื่อนของกองทัพพม่า พุ่งเป็นกว่า 500 คน ขณะที่กลุ่มกบฏชาติพันธุ์ติดอาวุธ 3 กลุ่ม ออกแถลงการณ์ประณาม พร้อมขู่ตอบโต้หากทหารยังไม่เลิกเข่นฆ่าประชาชน กระตุ้นความกังวล ว่า สถานการณ์อาจลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมือง ด้านนักเคลื่อนไหวชักชวนประชาชนประท้วงแนวใหม่ นำขยะไปเททิ้งกลางสี่แยก สำหรับฝ่ายอเมริกาประกาศระงับข้อตกลงทางการค้าทั้งหมดกับพม่า และผู้นำยูเอ็นเรียกร้องนานาชาติรวมพลังกดดันรัฐบาลเมียนมา
การประท้วงรายวันทั่วพม่าถูกตอบโต้ด้วยแก๊สน้ำตา กระสุนยาง และกระสุนจริงจากทหาร
สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (เอเอพีพี) ยืนยันในวันอังคาร (30 มี.ค.) ว่า มีพลเรือนเสียชีวิตจากการปราบปรามอย่างโหดร้ายถึง 510 คน และเตือนว่า ตัวเลขจริงอาจสูงกว่านี้มาก เฉพาะวันจันทร์ที่ผ่านมา (29) มีผู้เสียชีวิต 14 คน โดยอย่างน้อย 8 คนในจำนวนนี้เสียชีวิตในเขตดากองใต้ ในเมืองย่างกุ้ง
ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า กองกำลังความมั่นคงใช้อาวุธหนักโจมตีพื้นที่ดังกล่าวตลอดคืนวันจันทร์ ซึ่งยังไม่มีข้อมูลชัดเจนเกี่ยวกับอาวุธดังกล่าว แต่เชื่อกันว่า เป็นเครื่องยิงลูกระเบิด
ขณะที่สถานีทีวีของทางการรายงานว่า กองกำลังความมั่นคงใช้ “อาวุธปราบจลาจล” สลายกลุ่มก่อการร้ายที่ทำลายฟุตปาธ และมีชายคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ
ชาวบ้านคนหนึ่งเล่าว่า กองกำลังความมั่นคงบุกตรวจค้นและมีการยิงตลอดคืน และชาวบ้านอีกกลุ่มพบศพถูกเผาบนถนนในช่วงเช้าก่อนที่ทหารจะขนออกไป
ในวันอังคาร (30) ผู้ประท้วงในย่างกุ้งได้ใช้กลยุทธ์ใหม่โดยเรียกร้องให้ประชาชนนำขยะไปเททิ้งตามสี่แยกบนถนนสายหลัก ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า ผู้ประท้วงวัย 35 ปี ถูกยิงเสียชีวิตในเมืองมูเซ รัฐชาน
วันเดียวกันนั้น กลุ่มกบฏชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม ได้แก่ กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง, กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา และกองทัพอาระกัน (เอเอ) ออกแถลงการณ์ร่วมบอกว่า จะร่วมมือกับผู้ประท้วงและโต้ตอบ หากกองทัพพม่าไม่เลิกเข่นฆ่าประชาชน
แถลงการณ์นี้อาจสืบเนื่องมาจากการที่คณะกรรมการนัดหยุดงานประท้วงทั่วประเทศแห่งชาติพันธุ์ (General Strike Committee of nationalities - จีเอสซีเอ็น) ทำหนังสือเปิดผนึกเรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธของชาติพันธุ์ต่างๆ ช่วยเหลือผู้ที่ยืนหยัดต่อสู้กับการกดขี่อย่างไม่เป็นธรรมของกองทัพเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
ทว่า เด็บบี สโตทาร์ด จากสหพันธ์สากลเพื่อสิทธิมนุษยชน (เอฟไอดีเอช) แสดงความกังวลว่า หากกลุ่มกบฏลุกขึ้นมาจับอาวุธต่อสู้กับกองทัพพม่าจริง อาจทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายและลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมือง
ทั้งนี้ นับจากที่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948 ได้มีกบฏชนกลุ่มน้อยกว่า 20 กลุ่ม ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องอำนาจปกครองตนเอง อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ สิทธิในทรัพยากรธรรมชาติและยาเสพติด
แม้หลายกลุ่มทำข้อตกลงหยุดยิงกับกองทัพพม่า และเมื่อต้นเดือน เอเอเพิ่งถูกถอดออกจากรายชื่อองค์กรก่อการร้าย แต่ช่วงไม่กี่วันมานี้ มีการปะทะระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยทางด้านตะวันออกและภาคเหนือ
ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พม่าโจมตีทางอากาศต่อรัฐกะเหรี่ยงทางตะวันออก ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี เป้าหมายการโจมตีอยู่ที่กองพลน้อยที่ 5 ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) หลังจากกลุ่มนี้เข้ายึดฐานทัพของพม่า ส่งผลให้ประชาชนราว 3,000 คน หนีข้ามแดนมายังฝั่งไทย
ขณะเดียวกัน อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องเมื่อวันจันทร์ (29) ให้รัฐบาลทหารพม่าดำเนินการปรับเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตยอย่างจริงจัง และสำทับว่า การใช้ความรุนแรงกับประชาชนจนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมายเป็นสิ่งที่รับไม่ได้อย่างเด็ดขาด
กูเตียร์เรสยังเรียกร้องให้นานาชาติร่วมกันเพิ่มความกดดันเพื่อให้แน่ใจว่า สถานการณ์ในพม่าจะได้รับการแก้ไข
ทางด้านคณะบริหารของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของอเมริกา ประกาศระงับข้อตกลงกรอบโครงการค้าและการลงทุนปี 2013 กับพม่า จนกว่าจะมีการฟื้นฟูประชาธิปไตย
สำหรับฝรั่งเศสประณามความรุนแรงในพม่า ขณะที่จีนแสดงความกังวลและเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความอดกลั้น และรัสเซียเผยว่า กังวลอย่างมากกับการล้มตายของประชาชน แต่ยอมรับว่า กำลังสานสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารพม่า
อเมริกา อังกฤษ และสหภาพยุโรป ต่างประกาศแซงก์ชันเพื่อลงโทษการรัฐประหารและการปราบปรามประชาชน แต่ดูเหมือนบรรดานายพลพม่าไม่เคยสนใจความกดดันทางการทูตจากนานาชาติแม้แต่น้อย
นอกจากนั้น แหล่งข่าวทางการทูตยังเผยว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเอ็นมีกำหนดประชุมฉุกเฉินเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่าในวันพุธ (3) ตามที่อังกฤษเรียกร้อง
(ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี)