รอยเตอร์ - หนึ่งในกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์กลุ่มหลักของพม่าได้เตือนถึงภัยคุกคามที่กำลังขยายตัวขึ้นของความขัดแย้งครั้งใหญ่ในวันอังคาร (30) และเรียกร้องการแทรกแซงจากนานาชาติต่อการปราบปรามของทหารต่อฝ่ายตรงข้ามการรัฐประหารเมื่อเดือนก่อน
พม่าตกอยู่ในสถานการณ์ความสับสนวุ่นวายนับตั้งแต่กองทัพขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้การนำของอองซานซูจีเมื่อวันที่ 1 ก.พ. และฟื้นการปกครองของทหารหลังประเทศก้าวสู่ระบอบประชาธิปไตยได้เพียงทศวรรษเดียว
ขณะที่เมืองต่างๆ ทั่วประเทศเต็มไปด้วยการประท้วงต่อต้านทหาร การสู้รบยังปะทุขึ้นระหว่างกองทัพและผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดน และผู้ลี้ภัยกำลังทะลักทั่วพื้นที่ดังกล่าว
สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ที่ปฏิบัติการอยู่ตามแนวชายแดนทางตะวันออกติดกับไทย กล่าวว่า กลุ่มกำลังเตรียมรับการบุกโจมตีของรัฐบาล
“ตอนนี้ กองกำลังภาคพื้นของกองทัพพม่าหลายพันนายกำลังรุกคืบเข้ามาในดินแดนของเราจากทุกด้าน เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเผชิญหน้ากับภัยคุกคามร้ายแรงนี้ที่เกิดขึ้นจากกองทัพของรัฐบาลทหารที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อปกป้องดินแดนของเรา” สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงระบุในคำแถลง
นอกจากนี้ กลุ่มยังเรียกร้องประชาคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย ให้ช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงที่หลบหนีการโจมตี และให้ประเทศต่างๆ ตัดความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารเพื่อยุติความรุนแรงกับพลเรือน
ฝ่ายต่อต้านการรัฐประหารได้เรียกร้องการจัดตั้งแนวร่วมกับกลุ่มติดอาวุธเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ยืนหยัดต่อสู้กับกองทัพ
ผู้ก่อความไม่สงบจากกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่มจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลส่วนกลางมาเป็นเวลาหลายสิบปีเพื่อสิทธิในการปกครองตนเอง ขณะที่ทหารอ้างความชอบธรรมให้แก่การกุมอำนาจไว้นานหลายทศวรรษว่าพวกเขาเป็นเพียงสถาบันเดียวที่มีศักยภาพในการคงไว้ซึ่งความสามัคคีของชาติ
เครื่องบินทหารทิ้งระเบิดใส่กองกำลังของ KNU ในช่วงสุดสัปดาห์ ทำให้ชาวบ้านราว 3,000 คน อพยพหลบหนีไปไทย
ไทยปฏิเสธข้อกล่าวหาจากนักเคลื่อนไหวที่ระบุว่า ผู้ลี้ภัยกำลังถูกผลักดันกลับ แต่เจ้าหน้าที่ไทยบริเวณชายแดนกล่าวว่า กองทัพกำลังส่งคนส่วนใหญ่กลับประเทศเพราะมองว่าฝั่งพม่ามีความปลอดภัยแล้ว
โฆษกของหน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติกล่าวว่าหน่วยงานมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับรายงานที่ระบุว่าผู้คนกำลังถูกส่งกลับ และกำลังหาข้อมูลจากทางฝ่ายไทย
การต่อสู้ยังปะทุขึ้นในพื้นที่ทางภาคเหนือที่ผู้ก่อความไม่สงบชาติพันธุ์กะฉิ่นต่อสู้กับกองกำลังของรัฐบาล
รัฐชายแดนในอินเดียได้ยกเลิกคำสั่งปฏิเสธให้อาหารและที่พักแก่ผู้ลี้ภัย หลังมาตรการดังกล่าวก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากสาธารณชน.