xs
xsm
sm
md
lg

ชาวพม่าต่อแถวกด ATM หลังทหารจำกัดการถอน ลือหนักประเทศขาดแคลนเงินหลังรัฐประหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - ชาวพม่าเข้าแถวรอถอนเงินจากธนาคารด้วยความร้อนรน หลังทางการกำหนดมาตรการจำกัดการถอนเงินสดในแต่ละวัน ความเคลื่อนไหวที่ทำให้เกิดข่าวลือว่าประเทศกำลังขาดแคลนเงินหลังการรัฐประหาร

ธนาคารเมียวดีเป็นหนึ่งในธุรกิจจำนวนมากที่ทหารควบคุมอยู่ ซึ่งกำลังเผชิญกับแรงกดดันคว่ำบาตร นับตั้งแต่นายพลพม่าขับไล่อองซานซูจีออกจากอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ.

การชุมนุมประท้วงทั่วประเทศเรียกร้องให้พนักงาน ที่รวมถึงพนักงานธนาคารหยุดงาน ซึ่งส่งผลให้ภาคธนาคารที่ทหารและพรรคพวกควบคุมอยู่หยุดชะงักก่อนวันจ่ายเงินเดือนในวันศุกร์นี้

ในนครย่างกุ้ง ธนาคารเอกชนส่วนใหญ่ยังคงปิดทำการ ขณะที่ธนาคารของรัฐบาลเปิดเพียงบางส่วน และการกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มก็ดูเหมือนจะเป็นความไม่แน่นอนเช่นกัน

ตุน นาย นักธุรกิจอายุ 43 ปี ที่เข้าแถวทุกวันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อถอนเงิน 6 ล้านจ๊าต (ประมาณ 4,500 ดอลลาร์) จากบัญชีธนาคารเมียวดี กล่าวว่า ความไม่แน่นอนนี้ยิ่งก่อให้เกิดความวิตกกังวลเรื่องการขาดแคลนเงินสด

“เพราะข่าวลือเกี่ยวกับธนาคาร ผมเลยมาถอนเงิน” ตุน นาย กล่าว

แม้จะเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 6 ของประเทศ แต่ธนาคารเมียวดีอนุญาตให้ลูกค้าถอนเงินเพียงสาขาละ 200 คน โดยจำกัดวงเงินที่ 500,000 จ๊าตต่อวัน หรือประมาณ 370 ดอลลาร์

“การได้คิวถอนเงินในตอนเช้าเป็นเรื่องสำคัญ บางคนถึงกับเข้าพักในโรงแรมใกล้ๆ เพื่อจะได้เข้าคิวถอนเงินแต่เช้า” ตุน นาย กล่าว

แต่บางคนก็ไม่โชคดีแบบนี้ เช่น มี้น มี้น ครูเกษียณเดินทางมาเข้าแถวทุกวันตลอดสัปดาห์ แต่ก็ยังไม่สามารถถอนเงินได้

“ผมเบื่อมาก พวกเขาควรประกาศผ่านสื่อว่าเงินของเรายังโอเคอยู่ แม้ว่าเงินออมของผมจะไม่มาก แต่ผมก็กังวลเพราะข่าวลือ” มี้น มี้น กล่าว

แม้กำหนดเวลาทำการของธนาคารทั่วย่างกุ้งจะผิดปกติ แต่ประกาศในหนังสือพิมพ์นิว ไลท์ ออฟ เมียนมาร์ ของทางการ ยังคงอ้างว่าธนาคารเปิดให้บริการทุกวัน

ตะเว ตะเว เต็ง ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยของออสเตรเลีย กล่าวว่า ความเสี่ยงของการขาดแคลนเงินสดในประเทศอยู่ในระดับสูง

“ในอดีตภายใต้รัฐบาลทหารชุดก่อน พวกเขาพิมพ์เงินและแน่นอนว่าทำให้เงินเฟ้อสูง” ตะเว ตะเว เต็ง กล่าว

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของพม่าก่อนการรัฐประหารก็เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่และมาตรการล็อกดาวน์ และสถานการณ์คาดว่าจะเลวร้ายลง เนื่องจากขบวนการอารยะขัดขืนที่พนักงานของรัฐคว่ำบาตรการทำงาน

เหล่านายพลก็ได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา และสหภาพยุโรป และเศรษฐกิจขนาดใหญ่ก็เสี่ยงที่จะเผชิญความเสียหายด้านชื่อเสียงและการลดลงของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

Fitch หน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ ได้ปรับลดอัตราการเติบโตของประเทศสำหรับปี 2564 จาก 5.6% เหลือ 2% ในวันที่เกิดการรัฐประหาร โดยอ้างถึงความเสี่ยงทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้น

การหยุดชะงักของกระแสเงินสดจากต่างประเทศยิ่งเพิ่มความวิตกในกลุ่มนักเคลื่อนไหว Justice for Myanmar ที่กล่าวว่า บรรดานายพลอาจใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศมูลค่า 6,700 ล้านดอลลาร์ และจนถึงตอนนี้ มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ยังรวมถึงการอายัดทรัพย์ 1,000 ล้านดอลลาร์

“หากธนาคารต่างชาติยังทำธุรกิจกับธนาคารที่อยู่ภายใต้การควบคุมของทหาร พวกเขาจะมีส่วนขับเคลื่อนการปกครองของทหาร” กลุ่มนักเคลื่อนไหว Justice for Myanmar กล่าว.






กำลังโหลดความคิดเห็น