คณะรัฐประหารพม่าเมื่อวันเสาร์ (13 ก.พ.) ระงับใช้กฎหมายฉบับหนึ่งที่ห้ามกองกำลังความมั่นคงควบคุุมตัวผู้ต้องสงสัยหรือตรวจค้นสถานที่ส่วนบุคคลโดนไม่ได้รับอนุญาตจากศาล และออกหมายจับบุคคลที่มีชื่อเสียงในฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ 7 คน โทษฐานสนับสนุนการประท้วงใหญ่ต่อต้านการยึดอำนาจ
คำประกาศต่างๆ นานาถูกแถลงออกมา ในขณะที่การประท้วงทั่วประเทศต่อต้านรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และต่อต้านการควบคุมตัวนางอองซานซูจี ที่ทำให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2011 หยุดชะงัก ยืดเยื้อเข้าสู่วันที่ 8
คำแถลงเหล่านี้ย้อนให้นึกถึงยุคแห่งการปกครองของทหารที่ยาวนานกว่าครึ่งศตววรษ ครั้งที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ เป็นหนึ่งในชาติที่มีการกดขี่และถูกโดดเดี่ยวมากที่สุดในโลก
ในคำสั่งของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำทหารผู้กุมอำนาจการปกครองสูงสุด ได้ระงับใช้กฎหมาย 3 มาตรา ซึ่งปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของประชาชน โดยกฎหมายเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในระหว่างที่พม่าเปิดเสรีอย่างค่อยเป็นค่อยไป
กฎหมายเหล่านั้น รวมไปถึงมาตราที่กำหนดให้ต้องขอคำสั่งศาลสำหรับควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเกิน 24 ชั่วโมง และจำกัดอำนาจของกองกำลังด้านความมั่นคงที่การเข้าไปยังสถานที่ส่วนบุคคล เพื่อค้นหารหรือจับกุม ทั้งนี้ การระงับใช้กฎหมาย 3 มาตราดังกล่าว ยังเปิดทางให้กองทัพพม่าสอดแนมการติดต่อสื่อสารได้อย่างอิสระ
ถ้อยแถลงไม่ได้ระบุว่าประกาศดังกล่าวจะสิ้นสุดเมื่อไหร่
เหตุรัฐประหารกระตุ้นให้เกิดการประท้วงบนท้องถนนใหญ่ที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ และถูกประณามจากบรรดาชาติตะวันตก ในขณะที่สหรัฐฯกำหนดมาตรการคว่ำบาตรบางอย่างเล่นงานบรรดานายพลคณะผู้ปกครอง ส่วนประเทศอื่นๆ ก็กำลังพิจารณาออกมาตรการของตนเองเช่นกัน
ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารไหลบ่าสู่ท้องถนนอีกครั้งในย่างกุ้ง เมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ กรุงเนปิดอว์และที่อื่นๆ และทางกองทัพเผยว่าได้ออกหมายจับบรรดานักวิพากษ์วิจารณ์ชื่อดัง 7 คน จากการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์คณะผู้ปกครองทหารบนสื่อสังคมออนไลน์
คณะทำทำงานข้อมูลข่าวสารที่แท้จริงของกองทัพระบุในถ้อยแถลงว่า ประชาชนควรแจ้งตำรวจหากพบเห็นคนที่อยู่ในรายชื่อเหล่านี้ และจะถูกลงโทษหากว่าให้ที่หลบซ่อนแก่พวกเขา พร้อมเผยว่าได้ยื่นฟ้องดำเนินคดีต่อคนเหล่านี้ ภายใต้กฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี ตามข้อกล่าวหาแสดงความคิดเห็นที่อาจก่อความตื่นตระหนกหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
ในบรรดาที่ผู้ถูกหมายจับนั้น ประกอบด้วย มินโกนาย วัย 58 ปี ซึ่งใช้ชีวิตในเรือนจำเป็นส่วนใหญ่ระหว่างปี 1988 และ 2012 โดยเขาเป็นแกนหลักสำคัญที่สนับสนุนการประท้วงและการเคลื่อนไหวอารยขัดขืนของบรรดาข้าราชการพม่า รวมถึง จอมินยู อดีตผู้นำนักศึกษาลุกฮือในปี 1988 และศิลปินนักร้องทเว ลิน โก
พวกผู้ประท้วงสนับสนุนซูจีและผลการเลือกตั้ง ผุดขึ้นทั่วพม่าอีกครั้งในวันเสาร์ (13 ก.พ.) เพิกเฉยคำเตือนของคณะรัฐประหาร ที่ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงรวมตัวกัน สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
คณะรัฐประหารยังร้องขอให้ข้าราชการที่ทำตามแคมเปญรณรงค์อารยะขัดขืน กลับมาทำงาน พร้อมกับขู่ลงโทษทางวินัยกบใครก็ตามที่ไม่ยอมกลับมาปฏิบัติหน้าที่
อนึ่ง สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุเมื่อวันศุกร์ (12 ก.พ.) มีประชาชนแล้วมากกว่า 350 คนในพม่า นับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์
(ที่มา : รอยเตอร์)