กองกำลังความมั่นคงพม่าจัดเต็มทั้งกระสุนยาง, เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง และแก๊สน้ำตาประเคนใส่กลุ่มผู้ประท้วงที่ออกมาเดินขบวนตามเมืองใหญ่ทั่วประเทศเมื่อวันอังคาร (9 ก.พ.) โดยมีหญิงคนหนึ่งที่คาดว่าถูกกระสุนจริงเข้าที่ศีรษะจนบาดเจ็บสาหัสและอาจถึงขั้นเสียชีวิต นับเป็นสถานการณ์รุนแรงที่สุดตั้งแต่กองทัพได้ทำรัฐประหารโค่นอำนาจคณะบริหารของ อองซานซูจี เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ขณะที่บางประเทศเช่นนิวซีแลนด์และสหรัฐฯ เริ่มงัดมาตรการตอบโต้รัฐประหารในพม่าอย่างเป็นรูปธรรม
ที่กรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงใหม่ซึ่งคณะเผด็จการทหารรุ่นก่อนของพม่าสร้างขึ้นในพื้นที่ห่างไกลของประเทศ ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่าตำรวจได้พยายามขับไล่ผู้ประท้วงด้วยการยิงปืน โดยส่วนใหญ่เป็นการยิงขึ้นฟ้า รวมทั้งมีการใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงและกระสุนยาง ทำให้มีผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล โดยหนึ่งในผู้บาดเจ็บเป็นผู้หญิงซึ่งถูกกระสุนปืนเป็นแผลฉกรรจ์ที่ศีรษะ และมีแนวโน้มที่เธออาจจะเสียชีวิต
แพทย์ประจำห้องฉุกเฉินคนหนึ่งยืนยันกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ทหารน่าจะมีการใช้กระสุนจริง ซึ่งทำให้ชายวัย 23 ปี และวัยรุ่นอายุ 19 ปีคนหนึ่งบาดเจ็บสาหัส
ในวันเดียวกัน มีการแชร์คลิปวิดีโอซึ่งระบุว่าถ่ายจากเมืองพะโคทางภาคกลางของพม่า แสดงให้เห็นตำรวจกำลังเผชิญหน้ากับฝูงชน และใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดน้ำขับไล่ผู้ประท้วง ขณะที่สื่อภายในพม่ารายงานว่าที่เมืองมัณฑะเลย์ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของพม่า ตำรวจได้ใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม รวมทั้งจับกุมผู้ประท้วงไปอย่างน้อย 27 คน
พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของ ซูจี ได้ประกาศผ่านเฟซบุ๊กว่า กองทัพได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ารื้อค้นและทำลายสำนักงานใหญ่ของเอ็นแอลดีเมื่อเวลาประมาณ 21.30 น. ของวันอังคาร (8) และในวันเดียวกันยังมีสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีและบุคคลอื่นๆ ถูกควบคุมตัวเพิ่มเติมอีกประมาณ 30 คน
การประท้วงคราวนี้ถือเป็นการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดของพม่าในรอบกว่า 10 ปี และปลุกความทรงจำในยุคที่ทหารเคยกุมอำนาจเด็ดขาดในประเทศมานานครึ่งศตวรรษ รวมถึงเหตุการณ์ลุกฮือในอดีตที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายไปไม่น้อย กระทั่งกองทัพพม่ายอมที่จะสละอำนาจบางส่วนและเริ่มเปิดประเทศในปี 2011
กองทัพพม่าอ้างว่าศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ย. ปีที่แล้วมีการทุจริตขนานใหญ่ และยืนยันความชอบธรรมในการโค่นอำนาจรัฐบาล ซูจี ซึ่งได้รับเลือกตั้งมาด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย แม้คณะกรรมการการเลือกตั้งจะยืนยันว่าไม่พบความผิดปกติใดๆ เลยก็ตาม
ในขณะที่ประเทศตะวันตกพร้อมใจกันรุมประณามรัฐประหารครั้งนี้ แต่ดูเหมือนหลายชาติจะยังไม่พร้อมใช้มาตรการตอบโต้ใดๆ อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อกดดันให้พม่ากลับคืนสู่แนวทางประชาธิปไตย
เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงเมื่อวันอังคาร (9) ว่าอเมริกากำลังทบทวนความช่วยเหลือต่างๆ ที่ให้แก่พม่า เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ที่ก่อรัฐประการ “จะได้รับผลของมันอย่างสาสม”
“ เราขอย้ำข้อเรียกร้องให้กองทัพพม่าสละอำนาจ, คืนอำนาจให้แก่รัฐบาลที่ได้รับเลือกมาตามระบอบประชาธิปไตย, ปลดปล่อยผู้ที่ถูกคุมขัง, เลิกปิดกั้นช่องทางสื่อสาร และหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง”
ด้านองค์การสหประชาชาติเรียกร้องให้กองกำลังความมั่นคงพม่าเคารพสิทธิ์ของประชาชนในการออกมาชุมนุมประท้วงโดยสันติ
“การใช้กำลังรุนแรงเกินกว่าเหตุกับผู้ชุมนุมเป็นสิ่งที่รับไม่ได้” โอลา แอล์มเกรน ผู้แทนยูเอ็นประจำพม่า ระบุ
พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่าซึ่งเป็นผู้นำการรัฐประหารคราวนี้ ได้กล่าวปราศรัยถ่ายทอดสดเป็นครั้งแรกเมื่อค่ำวันจันทร์ (8) โดยยืนยันว่าการรัฐประหารครั้งนี้มีความชอบธรรม เนื่องจากมีการโกงเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อเดือน พ.ย. พร้อมให้สัญญาว่าจะสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงและมีการบริหารที่แตกต่างจากยุคเผด็จการทหารในอดีต โดยจะจัดให้มีการเลือกตั้งที่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองหลายๆ พรรคลงสมัคร และจะมอบอำนาจให้พรรคที่ชนะการเลือกตั้งตามกฎประชาธิปไตย
พล.อ. มิน อ่อง หล่าย ไม่ให้กรอบเวลาชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ มีเพียงประกาศของกองทัพตั้งแต่ตอนยึดอำนาจว่าจะบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินนาน 1 ปี ขณะเดียวกันในวันจันทร์ (8) ก็ยังมีการประกาศมาตรการหลายข้อเพื่อสกัดการชุมนุมประท้วง เช่น ห้ามชุมนุมกันเกิน 5 คน รวมถึงคำสั่งเคอร์ฟิวห้ามออกนอกบ้านยามค่ำคืนในหลายๆ พื้นที่
อย่างไรก็ตาม ประชาชนจำนวนมากยังคงท้าทายคำสั่งห้ามของกองทัพด้วยการออกมาชุมนุมประท้วงทั้งที่นครย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าและเมืองใหญ่อันดับ 1 ของประเทศ รวมถึงบริเวณใกล้ๆ ที่ทำการพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของอองซานซูจี
นักเคลื่อนไหวพม่าบางคนเรียกร้องให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 ที่ร่างขึ้นภายใต้การกำกับดูแลของกองทัพ โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจแก่เหล่านายพลในการ “วีโต” มติต่างๆ ในรัฐสภา รวมถึงครองอำนาจบริหารกระทรวงสำคัญๆ ขณะที่นักเคลื่อนไหวรุ่นเก่าที่เคยเผชิญหน้ากับทหารในการประท้วงนองเลือดเมื่อปี 1988 เรียกร้องให้ข้าราชการและลูกจ้างรัฐผละงานต่ออีก 3 สัปดาห์
การต่อสู้แบบอารยะขัดขืนในพม่าซึ่งนำโดยบุคลากรทางการแพทย์ยังส่งผลให้การตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งนับว่าเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างอันตรายสำหรับพม่าซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญวิกฤตไวรัสรุนแรงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยยอดผู้เสียชีวิตถึง 3,181 คน จากผู้ติดเชื้อกว่า 141,000 คน
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าพนักงานในอุตสาหกรรมการบินพลเรือนและเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศได้เข้าร่วมขบวนการอารยะขัดขืนครั้งนี้ด้วย ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ต้องใช้เส้นทางผ่านพม่า และอาจทำให้รัฐบาลทหารสูญเสียรายได้จากค่าธรรมเนียมบินผ่าน (overflight) สูงถึงวันละ 182,000 ดอลลาร์หรัฐ (ประมาณ 5.4 ล้านบาท)
ในส่วนของนานาชาติ นิวซีแลนด์ถือเป็นชาติแรกในโลกที่เริ่มใช้วิธีการโดดเดี่ยวผู้นำทหารพม่าอย่างเป็นรูปธรรม โดยสั่งระงับการติดต่อระดับสูงทั้งทางการเมืองและการทหารทั้งหมดกับพม่า, ห้ามผู้นำกองทัพแดนหม่องเดินทางเข้าประเทศ และจะเริ่มตรวจสอบให้แน่ใจว่ากองทัพพม่าจะไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับความช่วยเหลือที่นิวซีแลนด์อาจมอบให้แก่พม่า ขณะที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ก็เริ่มขยับในวันพุธ (10) โดยอนุมัติคำสั่งพิเศษสำหรับคว่ำบาตรรอบใหม่ต่อบรรดาผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารในพม่า และเน้นย้ำข้อเรียกร้องขอให้เหล่านายพลสละอำนาจ รวมถึงปล่อยตัวบรรดาผู้นำพลเรือน
สัปดาห์นี้ นักธุรกิจชื่อดังคนหนึ่งของสิงคโปร์ประกาศแผนยกเลิกการลงทุนในบริษัทยาสูบพม่าที่มีสัมพันธ์กับกองทัพ ตามรอย “คิริน โฮลดิงส์” บริษัทเบียร์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ที่ประกาศยุติการร่วมทุนผลิตเบียร์กับหุ้นส่วนในพม่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เชื่อว่าพม่าในวันนี้คงจะไม่ถูกโดดเดี่ยวเหมือนเช่นในอดีต เนื่องจากมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น และประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนจะตัดความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารพม่า
อาวินาช ปาลิวัล อาจารย์ด้านความสัมพันฑ์ระหว่างประเทศประจำโรงเรียนตะวันออกและแอฟริกันศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน ชี้ว่า “ประเทศแห่งนี้มีความสำคัญด้านภูมิรัฐศาสตร์มากเกินกว่าที่จะถูกทอดทิ้ง สหรัฐฯ และชาติยุโรปอาจมีมาตรการคว่ำบาตร แต่ท้ายที่สุดแล้วการรัฐประหารและผลพวงที่ตามมาก็ถือเป็นเรื่องภายในเอเชีย ไม่ใช่เรื่องของตะวันตก”
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งเริ่มต้นอาชีพนักการเมืองด้วยการก่อรัฐประหารในปี 2557 ยืนยันเมื่อวันพุธ (10) ว่าได้รับจดหมายจาก พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ที่ส่งมาชี้แจงเหตุผลในการทำรัฐประหาร พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลไทยช่วยสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยในพม่าด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า จดหมายดังกล่าวถูกส่งถึงตนในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม โดยสรุปคือขอให้ไทยสนับสนุนประชาธิปไตยในพม่า ซึ่งตนก็สนับสนุนอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการบริหารจัดการภายในก็เป็นเรื่องของผู้นำพม่า ซึ่งเป็นไปตามหลักการของอาเซียนและTAC หรือ สนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมย้ำว่าสิ่งที่จำเป็นในวันนี้คือต้องรักษาความสัมพันธ์ทีดีต่อกันไว้ให้มากที่สุด เพราะมีผลต่อประชาชนโดยรวม ต่อเศรษฐกิจ และการค้าขายชายแดนซึ่งมีความสำคัญยิ่งในขณะนี้
“พม่า” สมาชิกใหม่ของ “พันธมิตรชานม”
นับเป็นครั้งแรกในพม่าที่การชุมนุมประท้วงถูกนำโดยเยาวชน Gen-Z ซึ่งเติบโตท่ามกลางเสรีภาพ, ความเจริญรุ่งเรือง และการเข้าถึงเทคโนโลยีที่มากกว่าคนรุ่นก่อนๆ ซึ่งเยาวชนเหล่านี้ก็ต้องการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับการเคลื่อนไหวของตนเองผ่านการสร้างแนวร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยในประเทศข้างเคียง
เป็นที่น่าสังเกตว่าในพม่าได้เกิดปรากฏการณ์ “ม็อบ 3 นิ้ว” เลียนแบบการชุมนุมประท้วงในไทย นอกจากนี้ยังมีผู้ประท้วงพม่าบางคนที่โพสต์ข้อความต่อต้านรัฐประหารโดยติดแฮชแท็ก #MilkTeaAlliance หรือ “พันธมิตรชานม” ซึ่งเป็นขบวนการในโลกออนไลน์ของชาวเน็ตในฮ่องกง ไต้หวัน ไทย และล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ก็คืออินเดีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นทางประชาธิปไตย
มยัต (Myat) นักเคลื่อนไหวชาวพม่าวัย 28 ปี ยอมรับว่า ก่อนจะออกไปชุมนุมเธอได้อ่านคู่มือกลยุทธ์ของผู้ประท้วงในฮ่องกง ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาพม่า และมีการแชร์นับหมื่นๆ ครั้งผ่านสื่อสังคมออนไลน์
“เราได้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ในประเทศเพื่อนบ้านเคลื่อนไหวทางการเมืองกันอย่างไร” มยัต กล่าว “นั่นเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเรากล้าที่จะต่อสู้เช่นกัน”
นักเคลื่อนไหวในพม่าที่ใช้ชื่อว่า @mhonism ได้โพสต์ข้อความหลังการรัฐประหารเกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงว่า พม่าคือสมาชิกรายล่าสุดในกลุ่มพันธมิตรชานม ซึ่งทวีตดังกล่าวถูกแชร์ไปแล้วมากกว่า 22,000 ครั้ง และล่าสุดเริ่มมีการทำอาร์ตเวิร์คที่ใส่ภาพ “ชาพม่า” ซึ่งมีรสชาติหวานจัดลงไปควบคู่กับชานมของไทย, ฮ่องกง,ไต้หวัน และอินเดีย
“ความเป็นหนึ่งเดียวกัน (solidarity) จะก่อให้เกิดพลัง” โซฟี มัก นักวิจัยและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในฮ่องกง ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ “พันธมิตรชานมคือขบวนการแห่งเอเชียทั้งมวลที่รวบรวมเยาวชนคนรุ่นใหม่ซึ่งรู้สึกทนไม่ไหวกับการกดขี่ของรัฐบาล”