สหรัฐฯ ในวันอังคาร (9 ก.พ.) ประณามการใช้ความรุนแรงต่อบรรดาผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารในพม่า ระบุทุกคนควรมีสิทธิเสรีภาพการแสดงออกและชุมนุมอย่างสันติ จากคำแถลงของเนด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
“เราขอย้ำคำเรียกร้องของเรา ที่ขอให้ทหารสละอำนาจ คืนสถานะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ปล่อยพวกที่ถูกควบคุมตัว และยกเลิกข้อจำกัดด้านการติดต่อสื่อสารทั้งหมด รวมถึงอดทนอดกลั้นจากการใช้ความรุนแรง” ไพรซ์ กล่าวระหว่างแถลงสรุป
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากตำรวจปะทะกับผู้ชุมนุมในพม่าในวันอังคาร (9 ก.พ.) ในวันที่เกิดการประท้วงรุนแรงที่สุด ต่อต้านรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งบรรดานายพลที่นำโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย โค่นอำนาจอองซานซูจี ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีผู้หญิงคนหนึ่งคาดว่าถูกกระสุนปืนจริงบริเวณศีรษะทำให้บาดเจ็บสาหัสมาก และอาจถึงขั้นเสียชีวิต
การชุมนุมเดินขบวนต่อต้านการรัฐประหารปะทุต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ในวันอังคาร (9 ก.พ.) ตามเมืองใหญ่ๆ ของพม่า ถึงแม้กองทัพออกประกาศขู่ว่าจะจัดการกับการประท้วงที่พวกเขาระบุว่าเป็นการคุกคามเสถียรภาพและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของประเทศ พร้อมทั้งออกคำสั่งห้ามการรวมกลุ่มเกิน 5 คนก็ตาม
ที่กรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงใหม่ซึ่งคณะเผด็จการทหารรุ่นก่อนของพม่าสร้างขึ้นในพื้นที่ห่างไกลของประเทศ ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า ตำรวจได้พยายามขับไล่ผู้ประท้วงด้วยด้วยการยิงปืน ส่วนใหญ่เป็นการยิงขึ้นฟ้า รวมทั้งมีการใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง และกระสุนยาง ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล 4 คน โดยที่พวกแพทย์ระบุในเบื้องต้นว่าพวกเขาเชื่อว่ามีบาดแผลซึ่งน่าจะเกิดจากกระสุนจริงด้วย
คนหนึ่งที่ได้รับบาดเจ็บเหล่านี้เป็นผู้หญิงซึ่งได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะและหวั่นกันว่าเธอมีโอกาสมากที่สุดที่จะเสียชีวิต แพทย์ผู้หนึ่งซึ่งขอไม่ให้ระบุชื่อ กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์
เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นเหตุปะทะรุนแรงครั้งแรกนับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจ และควบคุมตัวอองซานซูจี กับนักการเมืองคนอื่นๆ จากพรรคคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของซูจี ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในศึกเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
เมื่อค่ำวันจันทร์ (8 ก.พ.) พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้ออกมาปราศรัยถ่ายทอดทางทีวีเป็นครั้งแรกภายหลังก่อรัฐประหาร ยืนยันความชอบธรรมในการยึดอำนาจ โดยใช้ข้ออ้างว่ามีการโกงการเลือกตั้ง ข้อกล่าวหาที่ถูกปฏิเสธโดยคณะกรรมการเลือกตั้ง และบรรดารัฐบาลชาติตะวันตกทั้งหลาย
ไพรซ์ เน้นน้ำสิ่งที่เขาพูดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าพม่าคือประเด็นหนึ่งที่วอชิงตันให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ และสหรัฐฯ กำลังทบทวนความช่วยเหลือต่างๆ ที่มอบให้แก่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ “เรากำลังเพ่งมองไปที่พม่า เพื่อรับประกันว่าพวกที่อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารนี้จะเจอกับผลที่ตามมา”
อนึ่ง เวลานี้รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังหาทางจำกัดเงินช่วยเหลือบางอย่างที่มอบแด่พม่า และขู่กำหนดมาตรการคว่ำบาตร
(ที่มา : รอยเตอร์/เอเอฟพี)