สหรัฐฯ แสดงความกังวลเกี่ยวกับคำสั่งของกองทัพพม่าที่จะจำกัดการรวมตัวของประชาชน ตามหลังมีการชุมนุมใหญ่ 3 วันติดต่อต้านการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ จากการเปิดเผยของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศอเมริกาในวันจันทร์ (8 ก.พ.) ขณะเดียวกัน คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเตรียมเปิดประชุมฉุกเฉินในช่วงปลายสัปดาห์ เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤตในประเทศแห่งนี้
เนด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในแถลงสรุปว่า “เรายืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวพม่า สนับสนุนสิทธิการชุมนุมอย่างสันติ ในนั้นรวมถึงการประท้วงอย่างสันติสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย”
วิกฤตในพม่า ถือเป็นบททดสอบหลักแรกของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่เคยประกาศให้ความสำคัญลำดับต้นๆ กับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ และให้สัญญาจะยกระดับความร่วมมือกับพันธมิตรในประเด็นความท้าทายระหว่างประเทศต่างๆ นานา
ไพรซ์ บอกว่า อเมริกาซึ่งกำลังหาทางจำกัดเงินช่วยเหลือบางส่วนที่มอบแด่พม่า กำลังดำเนินการอย่างรวดเร็วสำหรับกำหนดรูปแบบของการตอบโต้เหตุยึดอำนาจ หลังก่อนหน้านี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ สรุปแล้วว่าเหตุการณ์ในพม่าคือรัฐประหาร และขู่กำหนดมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่
นอกจากนี้แล้ว โฆษกรายนี้บอกอีกว่า บรรดาเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ สนับสนุนจีน ชาติเพื่อนบ้านของพม่า ทั้งแบบเปิดเผยและอย่างเป็นส่วนตัวให้เข้าร่วมกับทั่วโลกออกถ้อยแถลงประณามพฤติกรรมต่อต้านประชาธิปไตยของกองทัพพม่า
ท่าทีของสหรัฐฯ มีขึ้นในขณะที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะเปิดประชุมวาระพิเศษในวันศุกร์ (12 ก.พ.) เพื่อหารือวิกฤตในพม่า หลังรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ถูกทหารยึดอำนาจ สหประชาชาติเปิดเผยถ้อยแถลงที่เผยแพร่ในวันจันทร์ (8 ก.พ.)
ก่อนหน้านี้ในวันจันทร์ (8 ก.พ.) สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปร้องขอเปิดประชุมฉุกเฉิน และถ้อยแถลงของสหประชาชาติระบุว่าคำร้องดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสมาชิก 19 จากทั้งหมด 47 ชาติ ส่วนใหญ่เป็นเหล่าประเทศตะวันตก และมีญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้เข้าร่วมด้วย
สหรัฐฯ ซึ่งประกาศในวันจันทร์ (8 ก.พ.) ว่ากำลังกลับเข้าร่วมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หลังถอนตัวออกไปในเดือนมิถุนายนปี 2018 เป็นหนึ่งใน 28 รัฐสังเกตการณ์ ที่สนับสนุนความเคลื่อนไหวดังกล่าวเช่นกัน
คณะผู้แทนทูตในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เผยว่า บรรดาผู้สนับสนุนกำลังหารือกันเกี่ยวกับร่างมติหนึ่ง ซึ่งเตรียมนำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบจากที่ประชุม
ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ มีขึ้นในขณะที่ประชาชนหลายหมื่นคนไหลบ่าสู่ท้องถนนในพม่าเป็นวันที่ 3 ติดต่อกันในวันจันทร์ (8 ก.พ.) เพื่อประท้วงต่อต้านรัฐประหารโค่นอำนาจรัฐบาลพลเรือนของนางอองซานซูจี
จูเลียน เบรธเวต ผู้แทนสหราชอาณาจักรประจำสหประชาชาติ บอกกับที่ประชุมเตรียมการสำหรับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ว่าการคุมตัวบรรดานักการเมืองที่มาจาการเลือกตั้งและพลเรือนโดยกองทัพพม่า ก่อผลกระทบเลวร้ายต่อสิทธิมนุษยชนในประเทศ
เขาเน้นย้ำว่า โธมัส แอนดรูว์ โธมัส แอนดรูว์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในพม่า เรียกร้องให้มีการประชุมวาระพิเศษ เพื่อแสดงให้ประชาชนชาวพม่าเห็นว่า “พวกเขาไม่ได้อยู่เพียงลำพังในชั่วโมงแห่งอันตรายและในช่วงเวลาที่ต้องการความช่วยเหลือ”
“เหนือสิ่งอื่นใด เราต้องตอบสนองอย่างเร่งด่วนต่อชะตากรรมของผู้คนในพม่าและสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่าที่กำลังเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว” เบรธเวตกล่าว
ความกังวลมีขึ้นในขณะที่ทางการทหารพม่าประกาศใช้กฎอัยการศึกในหลายส่วนของมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศในวันจันทร์ (8 ก.พ.) ภายหลังผู้คนเรือนแสนออกมาชุมนุมกันทั่วประเทศเพื่อต่อต้านการทำรัฐประหารยึดอำนาจของกองทัพ และสถานีทีวีของรัฐประกาศเตือนอาจต้องใช้มาตรการบางอย่างจัดการกับการประท้วงที่ถือว่าผิดกฎหมาย นอกจากนี้ตำรวจยังได้ฉีดน้ำสลายผู้ประท้วงในเมืองหลวงเนปิดอ
พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย แถลงทางสถานีโทรทัศน์ครั้งแรกนับตั้งแต่ทหารเข้ายึดอำนาจเมื่อสัปดาห์ก่อน ประกาศว่ารัฐบาลทหารของเขาจะจัดการเลือกตั้งใหม่และมอบอำนาจให้กับผู้ชนะ ทั้งนี้เขาไม่ได้กล่าวว่าการเลือกตั้งจะจัดขึ้นเมื่อใด แต่ย้ำข้อกล่าวอ้างที่ว่าการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ที่พรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของซูจีชนะไปนั้น มีการโกงการเลือกตั้ง
(ที่มา : รอยเตอร์)