ทางการทหารพม่าประกาศใช้กฎอัยการศึกในหลายส่วนของมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศในวันจันทร์ (8 ก.พ.) ภายหลังผู้คนเรือนแสนออกมาชุมนุมกันทั่วประเทศเพื่อต่อต้านการทำรัฐประหารยึดอำนาจของฝ่ายทหาร และสถานีทีวีของรัฐประกาศเตือนอาจต้องใช้มาตรการบางอย่างจัดการกับการประท้วงที่ถือว่าผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ตำรวจยังได้ฉีดน้ำสลายผู้ประท้วงในเมืองหลวงเนปิดอ
ประกาศกฎอัยการศึกนี้ซึ่งครอบคลุม 7 อำเภอในเขตมัณฑะเลย์ มีเนื้อหาห้ามการชุมนุมกันเกิน 5 คน และห้ามออกนอกเคหะสถานยามวิกาล (เคอร์ฟิว) ตั้งแต่ 20.00 น.ถึง 04.00 น. ทั้งนี้ตามคำแถลงของกรมบริหารงานทั่วไป (general administration department)
นอกจากนั้นยังมีประกาศทำนองเดียวกันในอำเภอหนึ่งในเขตอิรวดี ซึ่งทางตอนใต้ลงมา และเป็นที่คาดหมายกันว่าอาจมีคำสั่งเช่นนี้ในพื้นที่ต่างๆ ออกมาอีกในคืนวันจันทร์ (8)
การประกาศกฎอัยการศึกเช่นนี้มีขึ้น หลังจากในวันเดียวกัน สถานีโทรทัศน์ของรัฐได้ออกคำเตือนว่าอาจใช้มาตรการทางกฎหมายบางอย่างเพื่อจัดการกับผู้ประท้วงที่ละเมิดกฎหมาย ก่อกวน ขัดขวาง และทำลายเสถียรภาพของประเทศ ความปลอดภัยของประชาชน และหลักนิติธรรม
คำแถลงที่อ่านโดยผู้ประกาศของสถานีเอ็มอาร์ทีวีระบุว่า มีการละเมิดกฎหมายเกิดขึ้น และกลุ่มต่างๆ ขู่ก่อความรุนแรงโดยใช้ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมาเป็นข้ออ้าง
ในวันเดียวกันนี้ ตำรวจได้ใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง ฉีดเข้าใส่ผู้คนหลายพันคนซึ่งไปชุมนุมกันที่ทางหลวงสายหนึ่งในกรุงเนปิดอ โดยที่เชื่อกันว่าพวกผู้นำรัฐบาลซึ่งถูกฝ่ายทหารโค่นล้ม ได้ถูกกักขังอยู่แถวนั้น
แรงดันของน้ำที่ตำรวจฉีดเข้ามา ทำให้มีผู้ประท้วงอย่างน้อย 2 คนได้รับบาดเจ็บ ตามปากคำของช่างภาพผู้หนึ่งซึ่งเห็นเหตุการณ์
แต่นอกเหนือจากการฉีดน้ำสลายผู้ชุมนุมในเมืองหลวงแล้ว จนถึงขณะนี้ รัฐบาลทหารพม่ายังไม่ได้ใช้กำลังกับผู้ประท้วง
ในวันจันทร์ (8) นั้น มีชาวพม่าในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศพากันออกไปชุมนุมประท้วงกองทัพและเรียกร้องให้ปล่อยตัวอองซานซูจี เป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน
กลุ่มชนขนาดใหญ่รวมตัวในเมืองมัณฑะเลย์ นอกจากนั้นยังมีรายงานว่า ผู้คนนับพันเดินขบวนในเมืองทวาย ทางตะวันออกเฉียงใต้และในรัฐกะฉิ่นทางเหนือสุด สะท้อนการต่อต้านการปกครองของทหารในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ แม้แต่กลุ่มที่วิจารณ์ซูจีและกล่าวหารัฐบาลพลเรือนเพิกเฉยต่อชะตากรรมของคนกลุ่มน้อยก็ตาม
สำหรับที่ย่างกุ้ง พระสงฆ์นำขบวนนักศึกษาและแรงงานเดินขบวนประท้วงเรียกร้องให้ทหารปล่อยตัวซูจีและคืนอำนาจให้รัฐบาล
การประท้วงซึ่งปะทุตัวขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีประชาชนเข้าร่วมหลายหมื่นคนในเมืองต่างๆ ถือเป็นการแสดงพลังครั้งใหญ่ที่สุดนับจาก “การปฏิวัติผ้าเหลือง” ในปี 2007 ที่มีพระสงฆ์เป็นแกนนำ และตามมาด้วยการที่ทหารค่อยๆ ถอนตัวจากการเมืองในช่วงหลายปีถัดจากนั้น
ถึงแม้ยังไม่มีการปราบปรามด้วยวามรุนแรงใดๆ แต่การที่มีขบวนรถทหาร เดินทางถึงย่างกุ้งเมื่อคืนวันอาทิตย์ (7) ก็ทำให้เกิดความกลัวกันว่า สถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลง
กองทัพพม่าดูมีความกังวลมากขึ้น จากการที่ข้าราชการบางส่วนเข้าร่วมการอารยะขัดขืนที่นำโดยบุคลากรทางการแพทย์ ล่าสุด มิน โก นาย นักเคลื่อนไหวที่ทำให้ซูจีโด่งดังเป็นที่รู้จักจากการประท้วงเมื่อปี 1988 ได้เรียกร้องให้ข้าราชการในทุกหน่วยงานเริ่มผละงานตั้งแต่วันจันทร์
ทั้งนี้ การเรียกร้องนัดหยุดงานทั่วประเทศได้รับการตอบสนองอย่างชัดเจนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีทั้งคนงานโรงงานสิ่งทอ ข้าราชการพลเรือน และพนักงานการรถไฟ ร่วมผละงานและชุมนุมในย่านธุรกิจของย่างกุ้ง
ขณะเดียวกัน เมื่อวันอาทิตย์ กองทัพได้ยกเลิกการปิดกั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ทำให้คนจำนวนมากโกรธแค้น ท่ามกลางความกังวลว่า ประเทศกำลังจะถูกนานาชาติโดดเดี่ยวอีกครั้งและต้องกลับสู่ความยากลำบากเหมือนช่วงก่อนที่จะมีการปฏิรูปประชาธิปไตยในปี 2011
ถึงแม้นานาชาติออกมาประณามกองทัพพม่าที่ทำรัฐประหารภายใต้ข้ออ้างว่า มีการโกงการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทว่าแทบไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ในการร่วมมือกันเพื่อกดดันทหารพม่า
สหประชาชาติ ได้แต่เรียกร้องให้ปล่อยตัวซูจีและผู้ที่ถูกจับกุมคนอื่นๆ ขณะที่สหรัฐฯกำลังพิจารณามาตรการแซงก์ชั่น
ด้านออสเตรเลียประณามการรัฐประหารและเรียกร้องให้ปล่อยตัวที่ปรึกษาเศรษฐกิจของรัฐบาลซูจีซึ่งเป็นพลเมืองออสเตรเลียที่ถูกจับในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
วันอาทิตย์ พระสันตะปาปาฟรานซิสแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับชาวพม่า และเรียกร้องให้กองทัพอยู่ร่วมกับรัฐบาลพลเรือนตามหลักประชาธิปไตย
โทมัส แอนดรูว์ ผู้จัดทำรายงานพิเศษของยูเอ็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในพม่า ทวิตว่า ผู้ประท้วงในพม่ายังคงเป็นแรงบันดาลใจให้โลก ชาวพม่าจะลุกฮือขึ้นมาและปลดปล่อยผู้ถูกควบคุมตัวทุกคน รวมทั้งปฏิเสธอำนาจเผด็จการของทหาร
(ที่มา : เอเอพี, รอยเตอร์, เอพี)