xs
xsm
sm
md
lg

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ คว่ำบาตรพม่า เล่นงานรักษาการ ปธน.และ รมว.กลาโหม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดี (11 ก.พ.) กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานรักษาการประธานาธิบดีของพม่าและเจ้าหน้าที่ทหารหลายนาย พร้อมเตือนบรรดานายพลว่าอาจถูกลงโทษทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม ส่วนหนึ่งในมาตรการตอบโต้รัฐประหารของวอชิงตัน

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า พวกเขาเล็งเป้าหมายเล่นงานบุคคลต่างๆ 8 ราย ในนั้นรวมถึงรักษาการประธานาธิบดี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมถึงบริษัทต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรมหยกและเพชรพลอย 3 แห่ง และอัปเดตยกระดับความหนักหน่วงคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง 2 นาย หลังกล่าวหาพวกเขามีบทบาทเป็นแกนนำในเหตุรัฐประหารโค่นอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของพม่า

อย่างไรก็ตาม วอชิงตันยังไม่คว่ำบาตรบริษัทอีกหลายแห่ง ในนั้นรวมถึงเมียนมาร์ อีโคโนมิก โฮลดิงส์ (Myanmar Economic Holdings Public Company Limited - MEHL) และเมียนมาร์ อีโคโนมิก คอร์ปอเรชัน Myanmar Economic Corporation (MEC) กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ 2 บริษัทของทหารซึ่งมีบริษัทในเครืออยู่เป็นจำนวนมาก และลงทุนครอบคลุมหลายภาคส่วนในเศรษฐกิจของพม่า

ก่อนหน้านี้เมื่อวันพุธ (10 ก.พ.) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน อนุมัติคำสั่งพิเศษสำหรับคว่ำบาตรรอบใหม่ต่อบรรดาผู้อยู่เบื้องหลังรัฐประหารในพม่า ที่โค่นล้มรัฐบาลที่นำโดยพลเรือนและควบคุมตัวนางอองซานซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

“รัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นการโจมตีโดยตรงต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐของพม่า” เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ระบุในถ้อยแถลง “เรายังเตรียมการใช้มาตรการเพิ่มเติม หากว่ากองทัพพม่าไม่เปลี่ยนเส้นทาง หากมีความรุนแรงกับผู้ประท้วงที่ชุมนุมกันอย่างสันติ กองทัพพม่าจะพบว่ามาตรการคว่ำบาตรในวันนี้เป็นเพียงชุดแรกๆ เท่านั้น”

ความเคลื่อนไหวในวันพฤหัสบดี (11 ก.พ.) กำหนดให้พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ พลเอกอาวุโส โซ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด อยู่ภายใต้คำสั่งพิเศษของไบเดน เนื่องจากทั้งคู่ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรไปแล้วในปี 2019 ตามคำกล่าวหาละเมิดชาวมุสลิมโรฮิงญา และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ

ส่วนคนอื่นๆ ที่อยู่ในบัญชี มีสมาชิกสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติพม่า 6 คน และเจ้าหน้าที่ทหาร 4 นายที่เปิดตัวในฐานะสมาชิกสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council) ในนั้นรวมถึง พลเอก เมีย ตุน อู รัฐมนตรีกลาโหม

3 บริษัทที่ถูกคว่ำบาตรโดยวอชิงตัน ประกอบด้วย Myanmar Ruby Enterprise, Myanmar Imperial Jade Co, LTD. และ Cancri (Gems and Jewellery) Co, LTD. ซึ่งถูกระบุโดยคณะผู้แทนของสหประชาชาติในพม่าเมื่อปี 2019 ว่าเป็นส่วนหนึ่งของ MEHL

ทำเนียบขาวระบุว่า มาตรการคว่ำบาตรต่างๆ นานาไม่จำเป็นต้องเป็นมาตรการถาวร และเรียกร้องกองทัพพม่าคืนอำนาจสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในทันที ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ปล่อยตัวบรรดาผู้ถูกคุมขังโดยไม่ชอบธรรม และรับประกันว่าจะไม่ใช้ความรุนแรงกับการประท้วงอย่างสันติ

นอกจากนี้แล้ว ทำเนียบขาวเผยด้วยว่า รัฐบาลของไบเดนกำลังดำเนินการหาแนวทางตอบโต้ในระดับนานาชาติรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งต่อวิกฤตการณ์ในพม่า

กองทัพอ้างความชอบธรรมของการยึดอำนาจ โดยบอกว่าศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของซูจี คว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย มีการโกง แม้คณะกรรมการการเลือกตั้งปฏิเสธคำกล่าวหาดังกล่าว

การประท้วงใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 1 ทศวรรษในพม่า รื้อฟื้นความทรงจำครั้งที่อยู่ภายใต้การปกครองของทหารโดยตรงนานเกือบครึ่งศตวรรษ ซึ่งสลับกับการปรามปรามนองเลือดเป็นระยะๆ จนกระทั่งกองทัพเริ่มคลายอำนาจบางส่วนในปี 2011

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น