ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ในวันพุธ (10 ก.พ.) แถลงว่า ได้อนุมัติคำสั่งพิเศษสำหรับคว่ำบาตรรอบใหม่บรรดาผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารในพม่า และเน้นย้ำข้อเรียกร้องขอให้เหล่านายพลสละอำนาจ และปล่อยตัวบรรดาผู้นำพลเรือน อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองกองทัพพม่าจะไม่ถูกโดดเดี่ยวดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากหลายชาติที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ไม่ตัดความสัมพันธ์กับประเทศแห่งนี้
ไบเดน บอกว่า คำสั่งดังกล่าวจะช่วยให้รัฐบาลของเขาสามารถ “กำหนดมาตรการคว่ำบาตรบรรดาผู้นำกองทัพ ซึ่งบงการรัฐประหาร ในทันที รวมถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจต่างๆ นานาของพวกเขา เช่นเดียวกับสมาชิกในครอบครัว”
ผู้นำสหรัฐฯ บอกว่า วอชิงตันเผยว่าจะระบุตัวเป้าหมายรอบแรกในสัปดาห์หน้า และจะใช้มาตรการต่างๆ นานาเพื่อสกัดบรรดานายพลพม่า จากการเข้าถึงเงินทุนรัฐบาลพม่า 1,000 ล้านดลอลาร์ ที่ถือครองอยู่ในสหรัฐฯ
“นอกจากนี้แล้ว เรากำลังจะกำหนดควบคุมการส่งออกอย่างเข้มข้น เรากำลังจะอายัดทรัพย์สินสหรัฐฯ ที่เป็นประโยชน์แก่รัฐบาลพม่า แต่ในขณะเดียวกัน เราก็จะยังคงให้การสนับสนุนด้านดูแลสุขภาพ กลุ่มประชาสังคมต่างๆ และขอบเขตอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชนชาวพม่าโดยตรง” ไบเดน กล่าวที่ทำเนียบขาว
“เราพร้อมกำหนดมาตรการต่างๆ เพิ่มเติม และเราจะเดินหน้าทำงานร่วมกับพันธมิตรระหว่างประเทศของเรา เรียกร้องประเทศอื่นๆ เข้าร่วมในความพยายามนี้” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุ
ในขณะที่ ไบเดน ไม่ได้เจาะจงว่าใครบ้างที่จะถูกเล่นงานด้วยมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ แต่สื่อมวลชนรายงานว่า มีความเป็นไปได้ที่วอชิงตันจะเล่นงาน พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย และนายพลระดับสูงคนอื่นๆ ซึ่งอยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯอยู่ก่อนแล้ว โดยคราวนั้นสหรัฐฯกำหนดมาตรการคว่ำบาตรในปี 2019 ตอบโต้กรณีล่วงละเมิดชาวมุสลิมโรฮิงญาและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ
นอกจากนี้แล้ว มาตรการคว่ำบาตรอาจเล็งเป้าเล่นงานกลุ่มบริษัทหลัก 2 แห่งของกองทัพ ได้แก่ เมียนมาร์ อีโคโนมิก โฮลดิงส์ ลิมิเต็ด และ เมียนมาร์ อีโคโนมิก คอร์ป ซึ่งเป็น Holding Company (บริษัทที่มีธุรกิจหลักคือการเข้าไปลงทุนหรือถือหุ้นในกิจการอื่นๆ) ที่ลงทุนในภาคต่างๆ นานา ในนั้นรวมถึงภาคธนาคาร, อัญมณี, ทองแดง, โทรคมนาคม และธุรกิจเสื้อผ้า
รัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งกองทัพโค่นอำนาจรัฐบาลพลเรือนของนางอองซานซูจี เกิดขึ้นไม่ถึง 2 สัปดาห์ หลัง ไบเดน เข้ารับตำแหน่ง กลายเป็นวิกฤตระหว่างประเทศใหญ่ๆ วิกฤตแรกที่เขาต้องเผชิญ และเป็นบททดสอบต้นๆ ต่อคำสัญญาระหว่างการหาเสียงของเขา ที่เคยบอกว่าจะนำประเด็นสิทธิมนุษยชนกลับมาเป็นแก่นกลางในนโยบายการต่างประเทศและทำงานร่วมกับพันธมิตรใกล้ชิดยิ่งขึ้น
ไบเดนบอกว่า พม่าคือประเด็นแห่งความกังวลใหญ่หลวงของพรรคการเมืองทั้งสองพรรคในสหรัฐฯ “ผมขอเรียกร้องกองทัพพม่าอีกครั้ง ให้ปล่อยตัวบรรดานักการเมืองและนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในทันที” เขากล่าว “กองทัพต้องปล่อยอำนาจที่พวกเขายึดมา”
บรรดาชาติตะวันตกออกมาประณามการรัฐประหาร แต่พวกนักวิเคราะห์บอกว่ากองทัพพม่าจะไม่ถูกโดดเดี่ยวดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา โดยที่ จีน, อินเดีย, บรรดาชาติเพื่อนบ้านอาเซียน และญี่ปุ่น ซึ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ดูเหมือนจะไม่ตัดความสัมพันธ์กับประเทศแห่งนี้
ในวันศุกร์ (12 ก.พ.) คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะเปิดพิจารณาญัตติหนึ่งที่ร่างโดยสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป สำหรับประณามรัฐประหารในพม่า และเรียกร้องเปิดทางให้คณะผู้สังเกตการณ์ลงพื้นที่โดยเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้แทนทูตคาดหมายว่า จีนและรัสเซีย สมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งต่างมีความสัมพันธ์กับทหารพม่า จะยกมือคัดค้านหรือไม่ก็พยายามทำให้เนื้อหาของร่างประณามดังกล่าวอ่อนลง
เหล่าผู้ประท้วงกลับสู่ท้องถนนสายต่างๆ ของพม่าอีกครั้งในวันพุธ (10 ก.พ.) แม้มีเหตุหญิงสาววัยรุ่นคนหนึ่งถูกยิงหนึ่งวันก่อนหน้านี้ โดยบางส่วนใช้แนวทางตลกขบขัน เพื่อตอกย้ำให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างสันติของพวกเขาต่อการทำรัฐประหารยึดอำนาจของกองทัพ
ในวันพุธไม่ได้มีรายงานความรุนแรงใดๆ และในหลายๆ สถานที่ การประท้วงมีบรรยากาศของงานเทศกาล เป็นต้นว่า มีกลุ่มชายหนุ่มนักเพาะกายเปลือกอกโชว์กล้าม, พวกผู้หญิงสวมใส่ชุดราตรีไปงานเต้นรำ ตลอดจนสวมชุดแต่งงาน, เกษตรกรขับรถแทรกเตอร์ ตลอดจนผู้คนที่นำสัตว์เลี้ยงของพวกตนมาด้วย
ในย่างกุ้ง เมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ มีผู้คนนับหมื่นๆ เข้าร่วมการชุมนุมประท้วง ขณะที่ในเมืองหลวงเนปิดอว์ มีข้าราชการลูกจ้างภาครัฐหลายร้อยคนเดินขบวนสนับสนุนขบวนการอารยะขัดขืนที่กำลังเติบโตขยายตัวไปเรื่อยๆ
ที่รัฐกะยา ทางภาคตะวันออกของประเทศ ตำรวจกลุ่มหนึ่งแต่งเครื่องแบบออกมาชุมนุมประท้วงกัน โดยถือป้ายเขียนข้อความว่า “เราไม่ต้องการเผด็จการ” พร้อมกับชูนิ้ว 3 นิ้ว ที่เป็นสัญลักษณ์ต่อต้านเผด็จการ
การประท้วงใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 1 ทศวรรษในพม่า รื้อฟื้นความทรงจำครั้งที่อยู่ภายใต้การปกครองของทหารโดยตรงนานเกือบครึ่งศตวรรษ ซึ่งสลับกับการปรามปรามนองเลือดเป็นระยะๆ จนกระทั่งกองทัพเริ่มคลายอำนาจบางส่วนในปี 2011
กองทัพอ้างความชอบธรรมของการยึดอำนาจ โดยบอกว่าศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของซูจี คว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย มีการโกง แม้คณะกรรมการการเลือกตั้งปฏิเสธคำกล่าวหาดังกล่าว
(ที่มา : รอยเตอร์)