พวกผู้ประท้วงออกมาชุมนุมกันตามท้องถนนในเมืองต่างๆ ของพม่าอีกครั้ง ในวันพุธ (10 ก.พ.) ถึงแม้เกิดเหตุสาววัยรุ่นผู้หนึ่งถูกยิงด้วยกระสุนจริง อาการสาหัสมาก ในวันก่อนหน้านั้น ขณะ “ประยุทธ์” ยอมรับ มิน อ่อง หล่าย ผู้นำทหารพม่า ส่งจดหมายแจงเหตุยึดอำนาจ พร้อมระบุไทยหนุนกระบวนการประชาธิปไตยพม่า และยึดหลักการอาเซียนเรื่องไม่แทรกแซงกิจการภายใน
มยา ตวะเต ตวะเต ไคง์ (Mya Thwate Thwate Khaing) หญิงสาววัย 19 ปี เป็นผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสคนแรก ซึ่งเป็นที่รับทราบกันในการประท้วงครั้งนี้ และการบาดเจ็บของเธอก็กลายเป็นประเด็นเรียกความสนับสนุนให้แก่ขบวนการต่อสู้ ซึ่งมุ่งหมายที่จะให้ล้มเลิกการทำรัฐประหารยึดอำนาจของฝ่ายทหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และปลดปล่อยอองซาน ซูจี ตลอดจนพันธมิตรคนอื่นๆ ของเธอจากที่คุมขัง
ในวันพุธไม่ได้มีรายงานความรุนแรงใดๆ และในหลายๆ สถานที่ การประท้วงมีบรรยากาศของงานเทศกาล เป็นต้นว่า มีกลุ่มชายหนุ่มนักเพาะกายเปลือกอกโชว์กล้าม, พวกผู้หญิงสวมใส่ชุดราตรีไปงานเต้นรำ ตลอดจนสวมชุดแต่งงาน, เกษตรกรขับรถแทร็กเตอร์ ตลอดจนผู้คนที่นำสัตว์เลี้ยงของพวกตนมาด้วย
ในย่างกุ้ง เมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ มีผู้คนนับหมื่นๆ เข้าร่วมการชุมนุมประท้วง ขณะที่ในเมืองหลวงเนปิดอว์ มีข้าราชการลูกจ้างภาครัฐหลายร้อยคนเดินขบวนสนับสนุนขบวนการอารยะขัดขืนที่กำลังเติบโตขยายตัวไปเรื่อยๆ
ที่รัฐกะยา ทางภาคตะวันออกของประเทศ ตำรวจกลุ่มหนึ่งแต่งเครื่องแบบออกมาชุมนุมประท้วงกัน โดยถือป้ายเขียนข้อความว่า “เราไม่ต้องการเผด็จการ” พร้อมกับชูนิ้ว 3 นิ้ว ที่เป็นสัญลักษณ์ต่อต้านเผด็จการ
แม้ไม่มีรายงานความรุนแรงในวันพุธ แต่แพทย์คนหนึ่งในเนปิดอว์ เผยว่า ทหารเข้ายึดคลินิกแห่งหนึ่งที่รักษาผู้บาดเจ็บจากการประท้วง
สำหรับหญิงวัยรุ่นที่อาการบาดเจ็บสาหัสมากนั้น เธอถูกยิงในวันอังคาร (9) ที่เมืองหลวงเนปิดอว์ ขณะที่พวกตำรวจยิงปืน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการยิงขึ้นฟ้า เพื่อสลายการรวมตัวของผู้ประท้วง เย ทูต ออง (Ye Htut Aung) พี่ชายของเธอบอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ ว่า ครอบครัวของพวกเขาถึงแม้ให้การสนับสนุนการประท้วง แต่ก็รบเร้าไม่ให้เธอออกจากบ้าน ทว่า เธอไม่ยอมและยังคงออกมา
ทางด้านหน่วยข้อมูลข่าวสารข่าวความจริง (True News Information Unit) ของกองทัพพม่า ออกคำแถลงระบุว่า กองกำลังความมั่นคงใช้เพียงอาวุธที่ไม่ทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิต และตำรวจกำลังสอบสวนเรื่องนี้อยู่ นอกจากนั้น หน่วยนี้ระบุว่ามีตำรวจ 2 คน ได้รับบาดเจ็บด้วยฝีมือของ “พวกก่อจลาจล” โดยเวลานี้ยังคงอยู่ในโรงพยาบาล
ในเมืองย่างกุ้ง พวกผู้ประท้วงได้นำเอาภาพขนาดใหญ่ของ มยา ตวะเต ตวะเต ไคง์ มาประดับที่สะพานแห่งหนึ่ง ก่อนหน้านี้แพทย์ผู้หนึ่งในโรงพยาบาลซึ่งเธอกำลังพักรักษาตัวอยู่ได้บอกกับรอยเตอร์ว่า อาการของเธอหนักมาก และไม่น่าจะรอดชีวิต
ทางด้าน กลุ่ม ฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในนิวยอร์ก แถลงว่า ชายวัย 20 ปีคนหนึ่ง ซึ่งก็ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืนเหมือนกัน เวลานี้อาการทรงตัว ขณะที่แพทย์หลายรายบอกว่า ยังมีบุคคลอื่นๆ อีก 3 คน กำลังได้รับการรักษาด้วยบาดแผลซึ่งสงสัยว่าเกิดจากกระสุนยาง
ยังมีรายงานผู้ประท้วงหลายคนได้รับบาดเจ็บเหมือนกันจากการประท้วงในเมืองมัณฑะเลย์ และเมืองอื่นๆ ซึ่งพวกกองกำลังความมั่นคงได้ใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดใส่ผู้ชุมนุม รวมทั้งจับผู้ประท้วงไปหลายสิบคน สำหรับโทรทัศน์ของรัฐรายงานว่ามีตำรวจ 4 คน ได้รับบาดเจ็บจากการที่ผู้ประท้วงขว้างก้อนหินใส่
นอกเหนือจากการออกมาชุมนุมประท้วงแล้ว ข่าวบอกว่า บุคลากรทางการแพทย์ ครู เจ้าหน้าที่ควบคุมการบินทางอากาศ ยังนัดหยุดงาน ติดริบบิ้นสีแดง ซึ่งเป็นสีประจำพรรคเอ็นแอลดี หรือโพสต์ภาพชู 3 นิ้ว
มิน โก ไน นักเคลื่อนไหวรุ่นเก่า เรียกร้องผ่านเฟซบุ๊กให้ข้าราชการและลูกจ้างรัฐทุกคนร่วมอารยะขัดขืนต่อไป
ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อคืนวันอังคาร (9) กองทัพพม่าได้ยกระดับการข่มขวัญบรรดาผู้นำพลเรือนด้วยการบุกรื้อทำลายข้าวของในที่ทำการพรรคพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของซูจี ที่ถูกบุกควบคุมตัวและหายเงียบไปตั้งแต่ที่กองทัพยึดอำนาจเมื่อต้นเดือน
โซ วิน สมาชิกคนหนึ่งของ เอ็นแอลดี เผยว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของที่ทำการพรรคในย่างกุ้ง เห็นกองกำลังความมั่นคงบุกเข้าไปจากกล้องวงจรปิดระยะไกลเมื่อคืนวันอังคาร (9) แต่ไม่สามารถขัดขวางได้เนื่องจากอยู่ระหว่างช่วงเคอร์ฟิว
กระทั่งเช้าวันพุธจึงพบว่า มีการพังประตูเข้าไป อุปกรณ์คอมพิวเตอร์หายไปเช่นเดียวกับเอกสารการธนาคารที่เก็บในตู้เซฟ สายไฟและสายเซิร์ฟเวอร์ถูกตัด โซ วิน สำทับว่า ทางพรรคคิดว่า จะไปแจ้งความกับตำรวจ
นอกจากนั้น ในวันอังคาร นักการเมืองหลายคนจากพรรคเอ็นแอลดียังถูกควบคุมตัวพร้อมกับคนอื่นๆ อีก 30 คน ซึ่งรวมถึงผู้สื่อข่าวจากสถานีทีวีท้องถิ่นแห่งหนึ่งระหว่างการประท้วงในมัณฑะเลย์
ทั้งนี้ กองทัพได้ประกาศมาตรการจำกัดการชุมนุม รวมทั้งประกาศเคอร์ฟิวในเมืองใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ เนปิดอว์ ย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์
การประท้วงครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดในรอบกว่าสิบปีที่เกิดขึ้นในพม่า และเตือนความจำถึงการปกครองระบอบเผด็จการทหารที่ยาวนานเกือบครึ่งศตวรรษและการลุกฮือต่อต้านจนนำไปสู่การนองเลือดหลายครั้ง กระทั่งกองทัพเริ่มปล่อยวางอำนาจบางส่วนในปี 2011
โลกตะวันตกต่างประณามการรัฐประหารในพม่า แต่ไม่มีมาตรการรูปธรรมเพื่อกดดันให้ทหารคืนอำนาจให้รัฐบาลพลเรือนที่ชนะการเลือกตั้ง มีเพียงนิวซีแลนด์ที่ประกาศเมื่อวันอังคารระงับการติดต่อระดับสูงทางการเมืองและการทหารกับพม่าทั้งหมด
วันเดียวกันนั้น อเมริกาและสหประชาชาติ ประณามการใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วง
เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศของอเมริกา แถลงว่า กำลังทบทวนความช่วยเหลือที่ให้พม่า เพื่อให้แน่ใจว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารจะเผชิญ “ผลลัพธ์อย่างมีนัยสำคัญ” พร้อมย้ำข้อเรียกร้องให้กองทัพคืนอำนาจให้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุม ยกเลิกข้อจำกัดด้านโทรคมนาคมทั้งหมด และละเว้นการใช้ความรุนแรง
ทางด้านยูเอ็นเรียกร้องให้กองกำลังความมั่นคงของเมียนมาเคารพสิทธิในการประท้วงอย่างสันติของประชาชน และประณามว่า การใช้กำลังอย่างไม่เหมาะสมกับผู้ประท้วงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
โจเซป บอร์เรลล์ กรรมาธิการนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) เตือนว่า บรัสเซลส์อาจฟื้นมาตรการแซงก์ชันกองทัพพม่า โดยจะหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนในวงกว้าง
อย่างไรก็ดี อวินาช ปาลีวาล อาจารย์อาวุโสสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวิทยาลัยตะวันออกและแอฟริกันศึกษา มหาวิทยาลัยลอนดอน ชี้ว่า พม่าเวลานี้จะไม่ถูกโดดเดี่ยวเหมือนในอดีตอีกต่อไป เนื่องจากไม่มีแนวโน้มที่จีน อินเดีย เพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และญี่ปุ่น จะตัดความสัมพันธ์ด้วย
สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวในวันพุธ ยอมรับว่า เป็นจริงตามกระแสข่าวที่ว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่า ส่งจดหมายส่วนตัวมาถึง เพื่ออธิบายเหตุผลในการยึดอำนาจ และสถานการณ์ในพม่า
พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า เนื้อหาจดหมายนี้โดยสรุปคือ ขอไทยสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยในพม่า ซึ่งตนเองก็สนันสนุนอยู่แล้ว
นายกรัฐมนตรีไทย กล่าวต่อไปว่า “ส่วนเรื่องการบริหารจัดการภายใน ก็เป็นเรื่องของท่าน” ซึ่งเป็นไปตามหลักการของอาเซียน และ TAC หรือ สนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีกติกามากมาย พร้อมกันนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำว่า สิ่งที่จำเป็นเวลานี้ คือ ต้องรักษาความสัมพันธ์ทีดีต่อกันไว้มากที่สุด เพราะมีผลต่อประชาชนโดยรวม ต่อเศรษฐกิจ การค้าขายชายแดน ที่สำคัญยิ่งในขณะนี้
ส่วนเรื่องตอบจดหมายนั้น นายกฯ กล่าวว่า เขาส่งมาไม่ได้ให้ตนตอบ แต่เพื่อชี้แจงกระบวนการประชาธิปไตยของเขา ซึ่งตนสนับสนุนอยู่แล้ว สุดแล้วแต่ว่าเขาจะทำอย่างไรต่อไป
(ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี, ผู้จัดการออนไลน์)