ตำรวจพม่าแจ้งข้อหา “อองซานซูจี” ผู้นำที่ถูกขับไล่ ฐานนำเข้าอุปกรณ์โทรคมนาคมผิดกฎหมาย และเธอจะถูกควบคุมตัวเพื่อสอบสวนไปจนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ จากเอกสารที่เผยแพร่ในวันพุธ (3 ก.พ.)
สหรัฐฯ ออกมาเคลื่อนไหวในทันที ระบุรู้สึกไม่สบายใจต่อการแจ้งข้อหาต่อนางอองซานซูจี ของพม่า ซึ่งเกิดขึ้น 2 วันหลังจากกองทัพก่อรัฐประหาร “เราเรียกร้องให้ทหารปล่อยตัวทุกคนในทันที” เนด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอเมริกาบอกกับพวกผู้สื่อข่าว โดยอ้างถึงนางอองซานซูจี และบรรดาผู้นำพลเรือนคนอื่นๆ ที่ถูกกองทัพควบคุมตัว
ความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้มีขึ้นหลังจากกองทัพก่อรัฐประหารเมื่อวันจันทร์ (1 ก.พ.) และควบคุมตัว ซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และนักการเมือง พลเมืองอื่นๆ หยุดกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของพม่าอย่างฉับพลัน และเรียกเสียงประณามจากสหรัฐฯ และบรรดาชาติตะวันตกอื่นๆ
ในคำกล่าวหาของตำรวจที่ยื่นต่อศาล ระบุว่า ซูจี วัย 75 ปี ครอบครองวิทยุมือถือ (walkie-talkie) จำนวน 6 เครื่อง ระหว่างการตรวจค้นบ้านพักของเธอในกรุงเนปิดอว์ โดยวิทยุมือถือเหล่านี้ถูกนำเข้ามาอย่างผิดกฎหมายและนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เอกสารคำร้องขอควบคุมตัว ซูจี ตำรวจขอให้ศาลอนุญาตกักตัวจนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ เพื่อสอบสวนเพิ่มเติม รวมถึงสอบปากคำพยาน สืบหาหลักฐาน และหาทนายความให้ซูจีหลังสอบสวนเสร็จแล้ว
ทั้งนี้ ในเอกสารอีกฉบับพบว่า ตำรวจแจ้งข้อหาต่อ วิน มินต์ อดีตประธานาธิบดีผู้ถูกขับไล่เช่นกัน ฐานละเมิดระเบียบการต่างๆ สำหรับหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ระหว่างหาเสียงเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน
สเตฟาน ดูจาร์ริค โฆษกสหประชาชาติบอกกับผู้สื่อข่าวในวันพุธ (3 ก.พ.) ว่าการแจ้งข้อหาต่อซูจีนั้น “ยิ่งแต่บ่อนทำลายหลักนิติรัฐในพม่าและกระบวนการประชาธิปไตย เราจะเดินหน้าเรียกร้องให้ปล่อยตัวเธอในทันที เช่นเดียวกับประธานาธิบดีและคนอื่นๆ ทั้งหมด ที่ถูกกองทัพควบคุมตัวในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา”
พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) คว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนอย่างถล่มทลาย แต่กองทัพที่นำโดยนายพลมิน อ่อง หล่าย อ้างว่าศึกเลือกตั้งแปดเปื้อนด้วยการโกง และอ้างความชอบธรรมในการเข้ายึดอำนาจจากข้อหล่าวหาต่างๆ เหล่านี้ แม้ทางคณะกรรมการเลือกตั้งบอกว่าการเลือกตั้งเป็นไปอย่างยุติธรรม
ซูจี เคยถูกกักบริเวณอยู่แต่ในบ้านพักนาน 15 ปี ระหว่างปี 1989 ถึง 2010 เนื่องจากเธอเป็นแกนนำขบวนการประชาธิปไตยในประเทศ และเธอยังคงเป็นที่นิยมอย่างสูงภายในพม่า แม้ชื่อเสียงในระดับนานาชาติของเธอได้รับความเสียหายในประเด็นเกี่ยวกับชะตากรรมของชาวมุสลิมโรงฮิงญาในปี 2017
เอ็นแอลดี ยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อข่าวคราวการแจ้งข้อหา โดยเจ้าหน้าที่ของพรรครายหนึ่งเปิดเผยก่อนหน้านี้เมื่อวันอังคาร (2 ก.พ.) ทราบว่า ซูจี ถูกกักบริเวณในเมืองหลวง และยังมีสุขภาพดีอยู่
ทางพรรคบอกว่าสำนักงานของพรรคตามภูมิต่างๆ ถูกตรวจค้น และเรียกร้องเจ้าหน้าที่หยุดสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าพฤติกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังจากพวกเขาได้รับชัยชนะในศึกเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย
กองทัพปกครองอดีตอาณานิคมของอังกฤษแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 1962 จนกระทั่งพรรคของซูจีก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี 2015 ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งซึ่งรับประกันว่าบรรดานายพลจะมีบทบาทสำคัญในรัฐบาล
(ที่มา : รอยเตอร์)