xs
xsm
sm
md
lg

พม่าส่อเลื่อนเลือกตั้งในรัฐยะไข่อ้างความไม่สงบ ชนกลุ่มน้อยเคืองบอกทำประชาชนเสียความเชื่อมั่น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - พม่าจะเลื่อนการเลือกตั้งในบางพื้นที่ของรัฐยะไข่หากทหารประกาศให้พื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัย เจ้าหน้าที่การเลือกตั้งระดับสูงเผยวันนี้ (30) ความคิดเห็นที่ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้จากพรรคการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งในภูมิภาคดังกล่าว

“เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีความสงบสุขและความมั่นคงในการจัดการเลือกตั้ง” หล่า เต็ง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพพม่า (UEC) กล่าว และเสริมว่ากระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทยที่กองทัพควบคุมอยู่จะเป็นผู้พิจารณาว่าภูมิภาคนี้มีความมั่นคงหรือไม่

“หากพวกเขาไม่แนะนำ พวกเราก็จะไม่จัด” หล่า เต็ง กล่าวกับรอยเตอร์ในการให้สัมภาษณ์ที่กรุงเนปีดอ

พม่ากำลังจะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 8 พ.ย. ในสิ่งที่นักวิเคราะห์มองว่าเป็นบททดสอบสำคัญของการเปลี่ยนไปจากการปกครองโดยตรงของทหาร แต่การเตรียมการเลือกตั้งมีความซับซ้อนเนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่รุนแรงขึ้น

พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางอองซานซูจี เข้าบริหารประเทศในปี 2559 หลังชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ที่ยุติการปกครองของทหารที่ยาวนานนับครึ่งศตวรรษ แต่ทหารยังคงกุมอำนาจสำคัญไว้


ในขณะที่ซูจียังคงได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในหมู่ชาวพุทธชาติพันธุ์พม่าที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แต่นักวิเคราะห์กล่าวว่า การสนับสนุนพรรคของซูจีเริ่มลดน้อยลงในหมู่ชุมชนชนกลุ่มน้อย

พรรคแห่งชาติอาระกัน (ANP) ที่เป็นพรรคการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ยะไข่ แสดงผลงานได้อย่างแข็งแกร่งในการเลือกตั้งปี 2558 แต่ถูกปฏิเสธบทบาทสำคัญในการบริหารท้องถิ่น ที่ยิ่งสร้างความขุ่นเคืองที่มีต่อรัฐบาลของพรรค NLD ให้ทวีมากขึ้น

ภูมิภาคนี้ปกคลุมไปด้วยสงครามระหว่างกองกำลังฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มกบฏชาติพันธุ์ยะไข่ที่แสวงหาสิทธิในการปกครองตนเอง

“หากไม่มีใครเป็นผู้แทนเขตเลือกตั้ง ผู้คนจะทนทุกข์มากขึ้น หากการเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปด้วยข้ออ้างเรื่องความมั่นคง ประชาชนจะเสียความเชื่อมั่นที่มีต่อระบบประชาธิปไตยทั้งหมด” หม่อง หล่า จอ สมาชิกสภารัฐยะไข่ กล่าวกับรอยเตอร์

การเลือกตั้งปี 2558 ถูกยกเลิกในหลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งชาติพันธุ์ และก็ยังไม่เคยจัดการเลือกตั้ง

ประชากรชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาถูกตัดสิทธิในการลงคะแนนเสียงก่อนการเลือกตั้งปี 2558 หลังเอกสารชั่วคราวของโรฮิงญาจำนวนมากถูกทำให้เป็นโมฆะ และในการปราบปรามของทหารในปี 2560 มีชาวโรฮิงญามากกว่า 730,000 คน หลบหนีไปบังกลาเทศ แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังมีหลายแสนคนที่ยังคงอาศัยอยู่ในพม่า

เมื่อสอบถามถึงกรณีของโรฮิงญา หล่า เต็ง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพพม่า กล่าวว่า ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงต้องเป็นผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และเป็นพลเมืองของประเทศ หากไม่สอดคล้องกับปัจจัยเหล่านี้ ก็จะไม่ถูกรวมอยู่ในรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง.
กำลังโหลดความคิดเห็น