รอยเตอร์ - นางอองซานซูจี ผู้นำพม่า แถลงความตั้งใจอย่างเป็นทางการในวันนี้ (4) ที่จะลงชิงชัยในการเลือกตั้งเดือน พ.ย. เพื่อบริหารประเทศเป็นสมัยที่ 2 การเลือกตั้งที่ถูกมองว่าเป็นบททดสอบการปฏิรูปประชาธิปไตยของประเทศ
หลังอยู่ภายใต้การปกครองของทหารมาหลายสิบปี ซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากการรณรงค์เรียกร้องประชาธิปไตย ได้เข้ากุมบังเหียนปกครองประเทศในปี 2559 หลังชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย แต่ยังถูกบังคับให้ต้องแบ่งอำนาจกับบรรดานายพล
ชื่อเสียงในระดับนานาชาติของซูจีต้องมัวหมองจากกรณีการปฏิบัติต่อชาวมุสลิมโรฮิงญา แต่อย่างไรก็ตาม เธอยังคงได้รับความนิยมอย่างมากจากประชาชนในประเทศ ซึ่งภาพลักษณ์ของเธอไม่ได้เสียหายจากข้อกล่าวหาว่าสมคบคิดในการกระทำโหดร้ายต่อชนกลุ่มน้อย
วันนี้ (4) ซูจีในวัย 75 ปี โบกมือให้แก่กลุ่มผู้สนับสนุนราว 50 คน ที่รวมตัวกันบริเวณชานนครย่างกุ้ง ซึ่งเธอเดินทางมายื่นใบสมัครรับเลือกตั้ง ผู้สนับสนุนบางคนสวมหน้ากากสีแดงเพื่อแสดงการสนับสนุนพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) และส่งเสียงร้องว่า “ขอให้แม่ซูสุขภาพแข็งแรง”
ในปี 2560 การปราบปรามที่นำโดยทหารเป็นผลให้ชาวโรฮิงญามากกว่า 730,000 คน ต้องอพยพหลบหนีข้ามแดนไปฝั่งบังกลาเทศ ที่พวกเขาต้องพักอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย ที่ผู้สืบสวนสหประชาชาติสรุปว่าการกระทำของทหารนั้นมีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ในเดือน ม.ค. ซูจียอมรับว่าอาจมีอาชญากรรมสงครามเกิดขึ้นกับโรฮิงญา แต่ปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยกล่าวว่า ผู้ลี้ภัยพูดเกินจริงเกี่ยวกับขอบเขตของการละเมิดที่เกิดขึ้นกับพวกเขา
แกมเบียได้ยื่นฟ้องในเดือน พ.ย. ยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) โดยกล่าวหาพม่ากระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชาวโรฮิงญา ขณะที่พม่าได้ยื่นรายงานว่าด้วยการปฏิบัติตามมาตรการปกป้องโรฮิงญา แต่รายละเอียดของเอกสารยังไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะแต่อย่างใด
ในส่วนของภายในประเทศนั้น รัฐบาลของซูจีได้ดำเนินการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์จากพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังเผชิญต่อแรงกดดันใหม่จากการระบาดของโควิด-19
พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USPD) ที่ควบคุมโดยทหารและข้าราชการเกษียณอายุจะเป็นคู่ต่อสู้หลักของพรรค NLD ในการเลือกตั้งครั้งนี้.