รอยเตอร์ - สถานทูตจีนในพม่ากล่าวหาสหรัฐฯ “ใส่ร้ายป้ายสีอย่างรุนแรง” และยุแยงให้จีนกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แตกกันเกี่ยวกับประเด็นทะเลจีนใต้และฮ่องกง ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสองประเทศมหาอำนาจที่เพิ่มสูงขึ้น
ในการตอบโต้สหรัฐฯ ที่ออกมากล่าวหาว่าปักกิ่งกำลังบ่อนทำลายอธิปไตยของประเทศเพื่อนบ้าน สถานทูตจีนกล่าวว่า หน่วยงานของสหรัฐฯ ในต่างประเทศกำลังทำสิ่งที่น่ารังเกียจเพื่อควบคุมจีน และยังแสดงให้เห็นถึง “ความเห็นแก่ตัว เสแสร้งหลอกหลวง และน่าเกลียด”
เมื่อสัปดาห์ก่อน สหรัฐฯ ได้แสดงจุดยืนของตนอย่างชัดเจนต่อกรณีทะเลจีนใต้ ด้วยการกล่าวว่า สหรัฐฯ จะสนับสนุนประเทศในภูมิภาคนี้ที่ท้าทายการอ้างกรรมสิทธิ์ของปักกิ่งเหนือน่านน้ำ 90% ของทะเลจีนใต้
ในคำแถลงที่ออกเมื่อวันเสาร์ (18) สถานทูตสหรัฐฯ ในย่างกุ้งเรียกการกระทำของจีนในทะเลจีนใต้และฮ่องกงว่า เป็นส่วนหนึ่งของ “รูปแบบที่ใหญ่มากขึ้นในการบ่อนทำลายอำนาจอธิปไตยของประเทศเพื่อนบ้าน”
คำแถลงของสหรัฐฯ ยังเปรียบเทียบการกระทำของจีนในทะเลจีนใต้และฮ่องกงกับโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ของจีนในพม่า ที่สหรัฐฯ เตือนว่าอาจกลายเป็นกับดักหนี้ รวมถึงปัญหาค้าหญิงจากพม่าไปเป็นเจ้าสาวในจีน และยาเสพติดจากจีนที่ไหลเข้ามาในพม่า
“นี่คือวิธีที่อธิปไตยสมัยใหม่สูญหายไป ไม่ใช่ผ่านการกระทำที่โจ่งแจ้ง แต่เป็นเหมือนสายน้ำขนาดเล็กที่กัดเซาะอย่างช้าๆ เมื่อเวลาผ่านไป” สถานทูตสหรัฐฯ ระบุ
ในคำแถลงโต้ตอบ จีนกล่าวว่า คำแถลงของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงทัศนติ “องุ่นเปรี้ยว” ของสหรัฐฯ ที่มีต่อ “ความสัมพันธ์ที่เฟื่องฟูระหว่างจีน-พม่า” และเป็น “เรื่องตลกอีกเรื่องระหว่างการเดินทางทั่วโลกของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เพื่อเปลี่ยนความสนใจจากปัญหาภายในประเทศ และแสวงหาประโยชน์ทางการเมืองอย่างเห็นแก่ตัว”
“สหรัฐฯ ควรหันไปมองกระจกดูก่อนว่ายังเหมือนประเทศที่สำคัญในตอนนี้หรือไม่” คำแถลง ระบุ
อย่างไรก็ตาม สถานทูตจีนในย่างกุ้งไม่ได้ตอบรับโทรศัพท์ที่รอยเตอร์ติดต่อเพื่อขอความเห็นเพิ่มเติม เช่นเดียวกับสถานทูตสหรัฐฯ
พม่ากลายเป็นสมรภูมิแย่งชิงอิทธิพลระหว่างสองประเทศมากขึ้นนับตั้งแต่รัฐบาลภายใต้การนำของนางอองซานซูจี และตะวันตกเริ่มตึงเครียดจากการปฏิบัติของพม่าต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญา
ถั่น มี้น อู นักเขียนและนักประวัติศาสตร์กล่าวกับรอยเตอร์ผ่านทางอีเมลว่า แม้พม่าจะมีคุณค่าทางเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อยต่อสองประเทศ แต่ความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในฐานะสะพานเชื่อมระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และอ่าวเบงกอลเป็นสิ่งที่ยากจะเพิกเฉยได้
“สัญชาตญาณของพม่านับตั้งแต่ได้เอกราชในปี 2491 คือพยายามที่จะเป็นมิตรกับทุกคน แต่ไม่ชัดเจนว่ายังเป็นแบบนั้นอยู่หรือไม่ในช่วงเวลาที่การแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ” ถั่น มี้น อู กล่าว.