รอยเตอร์ - รัฐบาลญี่ปุ่นออกรายงานทบทวนด้านกลาโหมประจำปี ระบุจีนฉวยโอกาสช่วงที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระบาด รุกอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่พิพาท และตั้งข้อสังเกตว่า ปักกิ่งอาจสอดแทรกโฆษณาชวนเชื่อและข้อมูลบิดเบือนระหว่างที่ส่งความช่วยเหลือด้านการแพทย์ให้แก่ประเทศต่างๆ ที่กำลังต่อสู้โควิด-19 ขณะที่สหรัฐฯ ก็ประกาศต่อต้านความพยายามของปักกิ่งที่จะอ้างความเป็นเจ้าของทรัพยากรนอกชายฝั่งเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้
สมุดปกขาวกลาโหมซึ่งได้รับการอนุมัติเห็นชอบจากรัฐบาลนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ชี้ว่า จีน “ยังคงพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสถานะปัจจุบัน (status quo) ของทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้”
เอกสารฉบับนี้อ้างว่า จีนพยายาม “อย่างไม่หยุดหย่อน” ที่จะรุกล้ำเข้าไปในน่านน้ำรอบๆ หมู่เกาะเซ็งกากุ (Senkaku) หรือที่จีนเรียกว่า เตี้ยวอี๋ว์ (Diaoyu) ซึ่งเป็นดินแดนพิพาทระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย นอกจากนี้ ยังรุกอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้โดยการจัดตั้งเขตบริหารขึ้นบนหมู่เกาะพิพาทต่างๆ ในระหว่างที่เพื่อนบ้านคู่กรณีกำลังเผชิญวิกฤตโรคระบาดโควิด-19
รัฐบาลญี่ปุ่นมองว่า จีนเป็นภัยคุกคามระยะยาวเสียยิ่งกว่ารัฐนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ ขณะที่จีนเองก็ทุ่มงบประมาณสนับสนุนกองทัพมากกว่าโตเกียวถึง 4 เท่าตัว
สมุดปกขาวญี่ปุ่นยังอ้างว่า จีนมีการ “โฆษณาชวนเชื่อ” และ “เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน” ระหว่างที่สังคมกำลังเผชิญความสับสนและไม่แน่นอนจากโรคระบาดโควิด-19 ตัวอย่างเช่น การอ้างว่าทหารสหรัฐฯ นายหนึ่ง เป็นผู้นำไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มาแพร่ในจีน หรือสมุนไพรจีนสามารถรักษาโควิด-19 ได้ เป็นต้น
เสียงวิจารณ์จากญี่ปุ่นสอดรับเป็นอันดีกับท่าทีของสหรัฐฯ และมีขึ้นในขณะที่สถานการณ์ในภูมิภาคกำลังร้อนระอุจากการที่ปักกิ่งและวอชิงตันต่างก็เปิดซ้อมรบในทะเลจีนใต้ รวมถึงสงครามการค้าที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 มหาอำนาจตกต่ำถึงขีดสุด
ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุวานนี้ (13) ว่า จีนไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายที่จะอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ และตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็ใช้วิธีข่มขู่บรรดารัฐชายฝั่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“เราขอประกาศชัดเจนตรงนี้ว่า การที่จีนอ้างสิทธิ์เหนือทรัพยากรนอกชายฝั่งเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายอย่างสิ้นเชิง เช่นเดียวกับพฤติกรรมข่มขู่เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรเหล่านั้น” พอมเพโอ กล่าว
“โลกจะไม่ยอมให้ปักกิ่งยึดทะเลจีนใต้เป็นเสมือนจักรวรรดิทางทะเลของตัวเอง”
สหรัฐฯ ต่อต้านการอ้างอธิปไตยของปักกิ่งเหนือหมู่เกาะพิพาททะเลจีนใต้มานานแล้ว และได้ส่งเรือรบเข้ามายังน่านน้ำยุทธศาสตร์แห่งนี้อยู่เนืองๆ เพื่อสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือ กระนั้นก็ดี คำแถลงของ พอมเพโอ เมื่อวานนี้ (13) ก็สะท้อนท่าทีแข็งกร้าวมากยิ่งขึ้นของสหรัฐฯ
สถานทูตจีนประจำสหรัฐฯ ได้ออกคำแถลงลงวันที่ 14 ก.ค. ว่า ข้อครหาที่วอชิงตันยัดเยียดให้จีนนั้น “ไม่เป็นธรรมโดยสิ้นเชิง” พร้อมชี้ว่า อเมริกาเองก็ “แสดงท่าทีข่มขู่, กระพือความขัดแย้ง และยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้าขึ้นในภูมิภาค โดยนำเรื่องการรักษาเสถียรภาพมาเป็นข้ออ้าง”
นักวิเคราะห์ในภูมิภาคชี้ว่า สิ่งสำคัญที่ต้องจับตามองก็คือประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคจะใช้จุดยืนเดียวกับสหรัฐฯ หรือไม่ และวอชิงตันจะดำเนินการอย่างไรเพื่อสกัดไม่ให้จีนสถาปนา “ชุดความจริงทางทะเล” ขึ้นมาสนับสนุนข้ออ้างตัวเอง
จีนอ้างอธิปไตยเหนือ 90% ของน่านน้ำทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางผ่านของสินค้าประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯในแต่ละปี ในขณะที่ บรูไน, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, ไต้หวัน และเวียดนาม ก็ประกาศความเป็นเจ้าของท้องทะเลบางส่วน
ปักกิ่งยังเข้าไปสร้างสาธารณูปโภคและทำกิจกรรมทางทหารบนหมู่เกาะปะการังหลายแห่งในทะเลจีนใต้ แต่อ้างว่าสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้มีวัตถุประสงค์ในเชิงสันติ
สิ่งที่จีนยกมาเป็นหลักฐานสนับสนุนการอ้างสิทธิ์ของตน ก็คือ “แผนที่เส้นประ 9 เส้น” ซึ่งลากคลุมพื้นที่ 9 ใน 10 ของทะเลจีนใต้ที่มีขนาดราวๆ 3.5 ล้านตารางกิโลเมตร