ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ลงนามคำสั่งบริหารเพิกถอนสถานะพิเศษทางการค้าของฮ่องกงตามกฎหมายสหรัฐฯ รวมถึงออกกฎหมายแซงก์ชั่นธนาคารที่ทำธุรกรรมกับเจ้าหน้าที่จีนที่รู้เห็นเป็นใจกับการกดขี่เสรีภาพชาวฮ่องกง ในความเคลื่อนไหวที่ส่อแววกระพือความตึงเครียดระหว่างสองมหาอำนาจ ขณะที่รัฐบาลอังกฤษทนแรงบีบของอเมริกาไม่ไหว ประกาศแบน ‘หัวเว่ย เทคโนโลยีส์’ ไม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ 5G นับตั้งแต่ปี 2027 เป็นต้นไป
ระหว่างการแถลงข่าวที่สวนกุหลาบในทำเนียบขาวเมื่อวันอังคาร (14 ก.ค.) ทรัมป์ กล่าวว่า“วันนี้ผมได้ลงนามร่างกฎหมายและคำสั่งบริหารของประธานาธิบดี เพื่อให้จีนต้องรับผิดชอบการกระทำที่ก้าวร้าวต่อชาวฮ่องกง... นับจากนี้ไปฮ่องกงจะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับจีนแผ่นดินใหญ่”
“ไม่มีสิทธิพิเศษ, ไม่มีการปฏิบัติเป็นกรณีพิเศษในทางเศรษฐกิจ และจะไม่มีการส่งเทคโนโลยีละเอียดอ่อนให้อีกต่อไป” ทรัมป์ เอ่ยเสริม “เสรีภาพของพวกเขาถูกขโมย สิทธิของพวกเขาถูกขโมย และด้วยเหตุนี้ฮ่องกงจึงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปในสายตาผม เพราะมันจะไม่สามารถแข่งขันกับตลาดเสรีอื่นๆ ได้ คนจำนวนมากมายจะเดินทางออกจากฮ่องกง”
กฎหมายที่ ทรัมป์ ลงนามกำหนดให้มีการอายัดทรัพย์สินในสหรัฐฯ ของบุคคลที่มีส่วนรับผิดชอบหรือรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำหรือนโยบายที่บั่นทอนกระบวนการหรือสถาบันประชาธิปไตยของฮ่องกง และให้เจ้าหน้าที่อเมริกันเพิกถอนใบอนุญาตส่งออกเป็นกรณีพิเศษไปยังฮ่องกง รวมถึงยกเลิกสิทธิพิเศษสำหรับผู้ที่ถือหนังสือเดินทางฮ่องกงด้วย
กระทรวงการต่างประเทศจีนออกมาแถลงตอบโต้ในวันพุธ (15) ว่า ปักกิ่งจะคว่ำบาตรพลเมืองและองค์กรของสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้กฎหมายที่มุ่งเล่นงานสถาบันการเงิน และแม้จะไม่ได้กล่าวพาดพิงถึงคำสั่งบริหารของ ทรัมป์ กรณีฮ่องกง แต่ก็ย้ำว่า “เรื่องในฮ่องกงเป็นกิจการภายในของจีนโดยแท้ ประเทศอื่นๆ ไม่มีสิทธิ์ก้าวก่าย”
จีนรับมอบเกาะฮ่องกงกลับคืนจากอังกฤษเมื่อปี 1997 โดยมีข้อตกลงระหว่างกันว่าจะรับรองเสรีภาพในการแสดงออก, การชุมนุม และการทำงานของสื่อมวลชนฮ่องกงไปจนถึงปี 2047 เป็นอย่างน้อย
นักวิจารณ์ส่วนใหญ่มองว่า การที่จีนนำกฎหมายความมั่นคงซึ่งกำหนดระวางโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิตสำหรับผู้ที่ล้มล้างการปกครอง, แบ่งแยกดินแดน, ก่อการร้าย และสมคบคิดต่างชาติ มาบังคับใช้กับฮ่องกง เป็นการผิดสัญญาข้อนี้ ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนมองว่ามันจะช่วยฟื้นฟูเกาะศูนย์กลางการเงินโลกให้กลับมามีเสถียรภาพ หลังจากที่บอบช้ำจากการชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อและรุนแรงตลอด 1 ปีที่ผ่านมา
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ กลับมาตึงเครียดด้วยหลายปัจจัย ทั้งสถานการณ์โรคระบาดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่มีต้นกำเนิดในจีน, การเสริมกำลังทหารจีนในทะเลจีนใต้, การที่จีนกดขี่ชาวมุสลิมอุยกูร์ รวมไปถึงประเด็นการค้าซึ่งจีนยังเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ อย่างมหาศาล
จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งกว่า 2 ล้านคนในอเมริกายังสะท้อนให้เห็นถึงมาตรการตอบสนองที่ล้มเหลวสิ้นเชิงของรัฐบาลทรัมป์ ส่งผลให้คะแนนนิยมของผู้นำสหรัฐฯ ตกต่ำในช่วงไม่กี่เดือนสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง และหลายฝ่ายเริ่มมีคำถามในใจว่าเขาจะรั้งเก้าอี้ผู้นำทำเนียบขาวไว้ได้อีกสมัยหรือไม่
ทรัมป์ พยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการโยนความผิดทั้งหมดไปที่จีน
“จีนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเต็มๆ โทษฐานปกปิดการระบาดของไวรัส และปล่อยให้มันแพร่กระจายไปทั่วโลก พวกเขาควรหยุดยั้งมันได้และควรจะทำไปแล้ว มันง่ายมากที่จะหยุดเชื้อไวรัสเอาไว้ ณ แหล่งกำเนิดของมัน” ทรัมป์ กล่าว พร้อมประกาศว่าไม่มีแผนจะคุยกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนในเร็วๆ นี้
สหรัฐฯ เริ่มทยอยเพิกถอนสิทธิพิเศษบางอย่างของฮ่องกงตั้งแต่ปลายเดือน มิ.ย. เช่น ระงับส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ และจำกัดการส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูง หลังจากที่รัฐบาลจีนแสดงท่าทีชัดเจนว่าจะนำกฎหมายความมั่นคงมาใช้ในฮ่องกงอย่างแน่นอน ขณะที่นักวิเคราะห์เตือนว่าการถอนสถานะพิเศษของฮ่องกงอาจกลายเป็น “ดาบสองคม” ทิ่มแทงสหรัฐฯ เอง
ข้อมูลจากสำนักสำมะโนแห่งสหรัฐฯ (US Census Bureau) ระบุว่า อเมริกาเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าฮ่องกงสูงถึง 26,100 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว มากกว่าการค้าทวิภาคีกับชาติใดๆ และเกาะศูนย์กลางการเงินแห่งนี้ยังเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของธุรกิจด้านกฎหมายและบัญชี โดยมีบริษัทอเมริกันเข้าไปเปิดกิจการในฮ่องกงมากถึง 1,300 ราย
จากข้อมูลปี 2018 มีพลเมืองอเมริกันอาศัยอยู่ในฮ่องกงประมาณ 85,000 คน
จูเลีย ฟรีดแลนเดอร์ นักวิเคราะห์จากสภาแอตแลนติก (Atlantic Council) ซึ่งเป็นสถาบันคลังความคิดในอเมริกา ให้ความเห็นว่า มาตรการลงโทษของสหรัฐฯ จะ “สร้างความเจ็บปวดทรมานต่อชาวฮ่องกง ในขณะที่จีนอาจจะได้ประโยชน์เสียด้วยซ้ำ”
เธออธิบายว่า การถูกยกเลิกสถานะพิเศษจะทำให้ฮ่องกงสูญเสียความเป็น “ประตูการเงินสู่โลกตะวันตก” และทำให้บริษัทและรัฐบาลต่างชาติหันไปแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าจากเมืองศูนย์กลางธุรกิจอื่นๆ ในจีนแผ่นดินใหญ่
สหรัฐฯ ยังออกมาส่งเสียงเชียร์พรรคการเมืองซึ่งมีแนวทางเรียกร้องประชาธิปไตยฮ่องกงซึ่งจัดการหยั่งเสียงไพรแมรีเมื่อวันอาทิตย์ (12) เพื่อคัดเลือกผู้สมัครที่สมควรส่งลงเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงซึ่งจะจัดขึ้นในเดือน ก.ย. โดยที่มีชาวฮ่องกง 600,000 คนไปร่วมโหวต ขณะที่จีนออกมาเตือนว่าการเลือกตั้งขั้นต้นนี้เป็นพฤติการณ์ยั่วยุอย่างรุนแรง และอาจเข้าข่ายละเมิดกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่
อีกหนึ่งปมปัญหาที่ร้อนระอุขึ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาก็คือกรณีข้อพิพาททะเลจีนใต้ โดยคณะบริหารของ ทรัมป์ ได้ออกมาโจมตีจีนว่าฉวยโอกาสรุกอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้อย่างผิดกฎหมายในช่วงที่โควิด-19 ระบาด พร้อมประกาศหนุนหลังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกับจีนด้วย
ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุเมื่อวันจันทร์ (13) ว่า “การที่จีนอ้างสิทธิ์เหนือทรัพยากรนอกชายฝั่งเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายอย่างสิ้นเชิง เช่นเดียวกับพฤติกรรมข่มขู่เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรเหล่านั้น” และ “โลกจะไม่ยอมให้ปักกิ่งยึดทะเลจีนใต้เป็นเสมือนจักรวรรดิทางทะเลของตัวเอง”
สถานทูตจีนประจำสหรัฐฯ ออกคำแถลงลงวันที่ 14 ก.ค. ว่าข้อครหาที่วอชิงตันยัดเยียดให้จีนนั้น “ไม่เป็นธรรมโดยสิ้นเชิง” พร้อมชี้ว่า อเมริกาเองก็แสดงท่าทีข่มขู่, กระพือความขัดแย้ง และยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้าขึ้นในภูมิภาค โดยนำเรื่องการรักษาเสถียรภาพมาเป็นข้ออ้าง
ขณะเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกสมุดปกขาวกลาโหมวิจารณ์จีนว่าพยายามเปลี่ยนสถานะปัจจุบันในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ โดยอ้างถึงกรณีที่จีนรุกล้ำเข้าไปในน่านน้ำรอบๆ หมู่เกาะเซ็งกากุ (Senkaku) หรือเตี้ยวอี๋ว์ (Diaoyu) ซึ่งเป็นดินแดนพิพาทระหว่างทั้ง 2 ประเทศ รวมไปถึงการรุกอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ โดยจัดตั้งเขตบริหารขึ้นบนหมู่เกาะพิพาทต่างๆ ในระหว่างที่เพื่อนบ้านคู่กรณีกำลังยุ่งอยู่กับการรับมือโควิด-19
สมุดปกขาวญี่ปุ่นยังอ้างว่าจีนมีการ “โฆษณาชวนเชื่อ” และ “เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน” เกี่ยวกับโควิด-19 ตัวอย่างเช่นการอ้างว่าทหารสหรัฐฯ นายหนึ่งเป็นผู้นำไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เข้าไปแพร่ในจีน หรือสมุนไพรจีนสามารถรักษาโควิด-19 ได้ เป็นต้น
สิ่งที่จีนยกมาเป็นหลักฐานสนับสนุนการอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ของตน ก็คือ “แผนที่เส้นประ 9 เส้น” ซึ่งลากคลุมพื้นที่ 9 ใน 10 ของทะเลจีนใต้ที่มีขนาดราวๆ 3.5 ล้านตารางกิโลเมตร ขณะที่นานาชาติวิจารณ์ว่ามันเป็นการกำหนดอาณาเขตที่คลุมเครือโดยอิงกับแผนที่เมื่อทศวรรษ 1940
ตลอดหลายปีมานี้ จีนยังเข้าไปสร้างสาธารณูปโภคและฐานทัพบนเกาะเทียมซึ่งเกิดจากการถมทะเลบริเวณเกาะปะการังหลายแห่งในพื้นที่ทะเลจีนใต้ ควบคู่ไปกับการยื้อกระบวนการทางการทูตเพื่อแก้ไขข้อพิพาทกับประเทศคู่กรณีมานานเกือบ 2 ทศวรรษ
ขณะเดียวกัน จีนยังส่อแววเพลี่ยงพล้ำให้กับแผนล็อบบี้ของสหรัฐฯ เมื่อรัฐบาลอังกฤษออกมาประกาศในวันอังคาร (14) ว่าจะถอด หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ออกจากโครงข่าย 5G แบบค่อยเป็นค่อยไปภายในระยะเวลา 7 ปีข้างหน้า
นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษ มีคำสั่งถอดอุปกรณ์หัวเว่ยทุกชนิดออกจากโครงข่าย 5G ของประเทศหลังสิ้นปี 2027 ซึ่งการกลับลำทางนโยบายครั้งนี้ถือเป็นการมอบชัยชนะครั้งใหญ่ให้แก่ ทรัมป์ ซึ่งเดินหน้าทำสงครามภูมิรัฐศาสตร์และการค้ากับจีน แต่ขณะเดียวกันก็ส่อแววกัดเซาะความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างลอนดอนกับปักกิ่ง และสร้างความเสียหายอย่างหนักแก่ผู้ให้บริการมือถือของสหราชอาณาจักรหลายเจ้าที่พึ่งพิงอุปกรณ์ของหัวเว่ยมานานเกือบ 20 ปี
หัวเว่ย เรียกการตัดสินใจครั้งนี้ว่าเป็นเรื่องการเมือง พร้อมเตือนว่ามันอาจทำให้อังกฤษ “เดินได้ช้าลงบนถนนสายดิจิทัล” ขณะที่นาง หัว ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ออกมาโจมตีอังกฤษว่า “โดนอเมริกาหลอกใช้” และขู่จะมีมาตรการตอบโต้เพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของบริษัทจีน
ทรัมป์ คุยโวว่าตัวเขาเองอยู่เบื้องหลังการตัดสินใจแบน หัวเว่ย ของนายกฯ จอห์นสัน ทว่ารัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษออกมาปฏิเสธการโมเมอ้างเครดิตของทรัมป์ และยืนยันว่าลอนดอนได้พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ
เมื่อเดือน ม.ค. รัฐบาลอังกฤษเคยประกาศอนุญาตให้ หัวเว่ย เข้ามามีส่วนร่วมวางโครงข่าย 5G โดยเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ “Global Britain’ ของ จอห์นสัน ที่มุ่งสานความสัมพันธ์กับมหาอำนาจในเอเชียเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ หลังจากที่อังกฤษเริ่มต้นกระบวนการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป
อย่างไรก็ตาม อังกฤษต้องหันมาทบทวนนโยบายดังกล่าวหลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศกฎระเบียบใหม่เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ซึ่งมุ่งกีดกันไม่ให้หัวเว่ยเข้าถึงชิปของสหรัฐฯ ที่เป็นหัวใจหลักของโครงข่าย 5G มิหนำซ้ำอเมริกายังขู่อังกฤษว่าการเปิดรับอุปกรณ์ของหัวเว่ยอาจส่งผลกระทบต่อการแชร์ข่าวกรอง เนื่องจากสัญญาณต่างๆ ที่สหรัฐฯ ส่งถึงอังกฤษอาจถูกจีนดักฟังหรือยักย้ายถ่ายเทข้อมูล