xs
xsm
sm
md
lg

‘ทรัมป์’ เซ็นคำสั่งบริหารยุติสถานะพิเศษ ‘ฮ่องกง’ ตอบโต้ กม.ความมั่นคง-ยันไม่มีแผนคุย ‘สี จิ้นผิง’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ลงนามคำสั่งบริหารยุติการให้สถานะพิเศษต่อฮ่องกงเมื่อวานนี้ (14 ก.ค.) เพื่อลงโทษรัฐบาลจีนกรณีบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ เป็นการลิดรอนอำนาจปกครองตนเองขั้นสูงและกดขี่เสรีภาพของชาวฮ่องกง

ทรัมป์ ระบุว่า คำสั่งบริหารนี้จะมีผลทำให้ฮ่องกงไม่ได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ ตามกฎหมายสหรัฐฯ อีกต่อไป

“ไม่มีสิทธิพิเศษ, ไม่มีการปฏิบัติเป็นกรณีพิเศษในทางเศรษฐกิจ และจะไม่มีการส่งเทคโนโลยีละเอียดอ่อนให้อีกต่อไป” ทรัมป์ ระบุในงานแถลงข่าว

ผู้นำสหรัฐฯ ยังได้ลงนามกฎหมายอีกฉบับซึ่งกำหนดบทลงโทษต่อสถาบันการเงินที่ทำธุรกรรมกับเจ้าหน้าที่จีนซึ่งบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในฮ่องกง

“วันนี้ผมได้ลงนามร่างกฎหมายและคำสั่งบริหารของประธานาธิบดี เพื่อให้จีนต้องรับผิดชอบการกระทำที่ก้าวร้าวต่อชาวฮ่องกง” ทรัมป์ กล่าว “นับจากนี้ไปฮ่องกงจะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับจีนแผ่นดินใหญ่”

กฎหมายที่ ทรัมป์ ลงนามยังกำหนดให้มีการอายัดทรัพย์สินในสหรัฐฯ ของบุคคลที่มีส่วนรับผิดชอบหรือรู้เห็นเป็นใจกับ “การกระทำหรือนโยบายที่บั่นทอนกระบวนการหรือสถาบันประชาธิปไตยของฮ่องกง” และให้เจ้าหน้าที่อเมริกัน “เพิกถอนใบอนุญาตส่งออกเป็นกรณีพิเศษไปยังฮ่องกง” รวมถึงยกเลิกสิทธิพิเศษสำหรับผู้ที่ถือหนังสือเดินทางฮ่องกงด้วย

ล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศจีนมีถ้อยแถลงวันนี้ (15) ว่า ปักกิ่งจะคว่ำบาตรพลเมืองและองค์กรของสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้กฎหมายที่มุ่งเล่นงานสถาบันการเงิน ทว่า ไม่ได้เอ่ยพาดพิงถึงคำสั่งบริหารของ ทรัมป์ กรณีฮ่องกง

“เรื่องในฮ่องกงเป็นกิจการภายในของจีนโดยแท้ ประเทศอื่นๆ ไม่มีสิทธิ์ก้าวก่าย” กระทรวงการต่างประเทศจีนระบุ

นักวิจารณ์ส่วนใหญ่เชื่อว่ากฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือลิดรอนเสรีภาพชาวฮ่องกง ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนมองว่ามันจะช่วยฟื้นฟูเกาะศูนย์กลางการเงินแห่งนี้ให้กลับมามีเสถียรภาพ หลังเผชิญเหตุชุมนุมประท้วงทางการเมืองที่ยืดเยื้อ และบ่อยครั้งนำไปสู่การใช้ความรุนแรง

กฎหมายดังกล่าวกำหนดระวางโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิตสำหรับผู้ที่ล้มล้างการปกครอง, แบ่งแยกดินแดน, ก่อการร้าย และสมคบคิดต่างชาติ

จีนรับมอบเกาะฮ่องกงกลับคืนจากอังกฤษเมื่อปี 1997 โดยมีกฎหมายรับรองเสรีภาพในการแสดงออก, การชุมนุม และการทำงานของสื่อมวลชนฮ่องกงไปจนถึงปี 2047 เป็นอย่างน้อย

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ตึงเครียดหนักจากหลายๆ ปัจจัย เช่น โรคระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่, การเสริมกำลังทหารจีนในทะเลจีนใต้, การที่จีนกดขี่ชาวมุสลิมอุยกูร์ รวมไปถึงประเด็นการค้าซึ่งจีนเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ อย่างมหาศาล

จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในสหรัฐฯ ที่พุ่งสูงต่อเนื่องยังสะท้อนให้เห็นว่ามาตรการตอบสนองของรัฐบาล ทรัมป์ นั้นล้มเหลวสิ้นเชิง ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่เริ่มไม่แน่ใจว่าเขาจะชนะศึกเลือกตั้งในวันที่ 3 พ.ย. และรั้งเก้าอี้ผู้นำทำเนียบขาวไว้ได้อีกสมัยหรือไม่

ทรัมป์ พยายามโยนความผิดทั้งหมดไปให้จีน

“จีนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเต็มๆ โทษฐานปกปิดการระบาดของไวรัส และปล่อยให้มันแพร่กระจายไปทั่วโลก พวกเขาควรหยุดยั้งมันได้และควรจะทำไปแล้ว มันง่ายมากที่จะหยุดเชื้อไวรัสเอาไว้ ณ แหล่งกำเนิดของมัน” ทรัมป์ กล่าว

เมื่อสื่อมวลชนถามว่าเขามีแผนที่จะหารือกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนหรือไม่ ทรัมป์ ก็ตอบชัดเจนว่า “ผมไม่มีแผนจะคุยกับเขา”

นักวิเคราะห์มองว่า การถอนสถานะพิเศษของฮ่องกงอาจกลายเป็น “ดาบสองคม” ที่ทิ่มแทงสหรัฐฯ เอง

ข้อมูลจากสำนักสำมะโนแห่งสหรัฐฯ (US Census Bureau) ระบุว่า อเมริกาเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าฮ่องกงสูงถึง 26,100 ล้านดอลลาร์ ในปีที่แล้ว มากกว่าการค้าทวิภาคีกับชาติใดๆ และเกาะศูนย์กลางการเงินแห่งนี้ยังเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของธุรกิจด้านกฎหมายและบัญชี โดยมีบริษัทอเมริกันเข้าไปเปิดกิจการในฮ่องกงมากถึง 1,300 ราย

จากข้อมูลปี 2018 มีพลเมืองอเมริกันอาศัยอยู่ในฮ่องกงประมาณ 85,000 คน

สหรัฐฯ เริ่มทยอยเพิกถอนสิทธิพิเศษบางอย่างของฮ่องกงตั้งแต่ปลายเดือน มิ.ย. เช่น ระงับการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์และจำกัดการส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูง หลังจีนแสดงท่าทีชัดเจนว่าจะประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงในฮ่องกง




กำลังโหลดความคิดเห็น