เอเอฟพี - อังกฤษในวันอังคาร (14 ก.ค.) ยอมโอนอ่อนผ่อนตามแรงกดดันของสหรัฐฯ และสั่งถอด หัวเว่ย บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติจีน ออกจากโครงข่าย 5G อย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้คำเตือนตอบโต้จากปักกิ่ง
การกลับลำทางนโยบายครั้งนี้เป็นการมอบชัยชนะครั้งสำคัญแก่รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ในสงครามภูมิรัฐศาสตร์และการค้าที่พวกเขาเปิดศึกกับจีน
อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกับมันก็เสี่ยงก่อความเสียหายเพิ่มเติมในความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับมหาอำนาจเอเชีย และอาจก่อความเสียหายราคาแพงแก่บรรดาผู้ให้บริการมือถือของสหราชอาณาจักรหลายเจ้า เนื่องจากพวกเขาพึ่งพิงอุปกรณ์ของหัวเว่ยมานานเกือบ 20 ปี
คำแถลงของโอลิเวอร์ ดาวเดน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล มีขึ้นตามหลังการประชุมร่วมระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติกับคณะรัฐมนตรีที่มีนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน เป็นประธาน ซึ่งตัดสินใจขั้นสุดท้าย ปรับเปลี่ยนเส้นทาง 5G ของประเทศ
“นับตั้งแต่สิ้นปีนี้ ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมไม่ควรซื้ออุปกรณ์ 5G ใดๆ จากหัวเว่ย” ดาวเดนบอกกับรัฐสภา พร้อมเผยว่ากรอบคำแนะนำใหม่ ยังกำหนดด้วยว่าทุกอุปกรณ์ 5G ของหัวเว่ยที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะถูกถอดออกภายในปี 2027
หัวเว่ยเรียกการตัดสินใจครั้งนี้ว่า “เป็นเรื่องการเมือง” และระบุว่ามันอาจทำให้อังกฤษอยู่ในช่องทางเดินช้าๆ บนถนนสายดิจิทัล “มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ไม่ใช่ความมั่นคง” เอ็ด บริวสเตอร์ โฆษกของหัวเว่ยประจำอังกฤษกล่าว “การตัดสินใจที่น่าผิดหวังนี้เป็นข่าวร้ายสำหรับทุกคนในอังกฤษที่มีโทรศัพท์มือถือ”
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมกราคม จอห์นสัน สร้างความขุ่นเคืองแก่ทรัมป์ และก่อความผิดหวังแก่สมาชิกบางส่วนภายในพรรคคอนเซอร์เวทีฟของเขาเอง ด้วยการอนุญาตให้หัวเว่ย เข้ามามีส่วนร่วมกับการวางโครงข่ายเทคโนโลยี 5G ในประเทศ
ณ ขณะนั้น อังกฤษกำลังเผชิญกับความยุ่งเหยิงในกระบวนการถอนตัวจากสหภาพยุโรป และกำลังหาทางสานสัมพันธ์ที่เข้มแข็งกับเหล่าชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในเอเชียทั้งหลาย ซึ่งจะช่วยเติมเต็มวิสัยทัศน์ “Global Britain” ของจอห์นสัน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของทรัมป์บอกกับรัฐบาลอังกษว่า การตัดสินใจของพวกเขานั้นอาจกระทบต่อการแบ่งปันข่าวกรอง เพราะว่าสัญญาณต่างๆ ที่ส่งถึงอังกฤษ อาจถูกดักฟังหรือยักย้ายถ่ายเทข้อมูลโดยจีน
วอชิงตันเชื่อว่าหัวเว่ยซึ่งเป็นบริษัทเอกชนสามารถปิดโครงข่าย 5จี ของประเทศคู่อริได้ตามคำสั่งของปักกิ่ง ในยามที่เกิดสงคราม แต่ทางหัวเว่ยปฏิเสธมาตลอด และชี้ว่าเป็นเวลานานกว่า 2 ทศวรรษแล้ว ที่พวกเขาให้ความร่วมมือกับหน่วยงานด้านความมั่นคงของอังกฤษ ซึ่งมึหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยของเครือข่าย 3G และ 4G ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
การทบทวนนโยบายเกี่ยวกับโครงข่าย 5G ของอังกฤษ มีต้นตอจากความเคลื่อนไหวออกมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งปิดกั้นหัวเว่ยจากการเข้าถึงชิปของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของโครงข่าย 5G