xs
xsm
sm
md
lg

ศาลพม่าตัดสิน 3 นายทหารมีความผิดกรณีทารุณโรฮิงญา ด้านกลุ่มสิทธิซัดไร้ความโปร่งใส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - กองทัพพม่าแถลงวันนี้ (30) ว่า ศาลทหารที่กำลังสอบสวนการกระทำทารุณโหดร้ายต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ได้ตัดสินความผิดต่อเจ้าหน้าที่ทหาร 3 นาย

ความเคลื่อนไหวที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นกับสมาชิกทหารนี้ มีขึ้นในขณะที่พม่ากำลังเผชิญกับข้อกล่าวหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ศาลสูงสุดของสหประชาชาติจากการปราบปรามชาวโรฮิงญาในปี 2560 ที่ทำให้โรฮิงญากว่า 750,000 คน ต้องหลบหนีไปบังกลาเทศ และได้เปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับการสังหาร การข่มขืน และการวางเพลิง

กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่ากองกำลังความมั่นคงของพม่ากระทำเหตุทารุณในหมู่บ้านต่างๆ รวมทั้งหมู่บ้านกูดาร์ปิน สถานที่ที่พบหลุมศพหมู่อย่างน้อย 5 หลุม

แม้ในเบื้องต้น พม่าจะปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านั้น แต่กองทัพได้เริ่มกระบวนการทางศาลทหารในเดือน ก.ย. และยอมรับว่ามีความบกพร่องในการปฏิบัติตามคำสั่งที่หมู่บ้านเหล่านั้น

สำนักงานผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ประกาศวันนี้ (30) ว่าศาลทหารได้ยืนยันคำตัดสินการกระทำความผิดและได้ตัดสินโทษกับเจ้าหน้าที่ 3 นาย แต่ในถ้อยแถลงดังกล่าวกลับไม่มีการระบุถึงรายละเอียดเกี่ยวกับผู้กระทำความผิด ลักษณะความผิด หรือบทลงโทษ ซึ่งองค์การนิรโทษกรรมสากลเรียกการขาดความโปร่งใสในศาลทหารว่าเป็นสิ่งที่น่าตกใจ

“การพิจารณาคดีหลังประตูปิดที่เต็มไปด้วยความลับ และขาดซึ่งความเป็นอิสระในระบบศาลทหาร ไม่ใช่วิธีการที่จะยุติการได้รับการยกเว้นโทษของทหารในพม่า” เจ้าหน้าที่จากองค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุ

รัฐบาลสนับสนุนเหตุผลของกองทัพต่อปฏิบัติการในปี 2560 ว่าเป็นวิธีการที่จะกำจัดผู้ก่อความไม่สงบ แต่อย่างไรก็ตาม นางอองซานซูจี ได้ยอมรับที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในเดือน ธ.ค. ว่า อาจมีการใช้กำลังอย่างไม่เหมาะสม แต่ทั้งนี้ ทหารยังคงยืนกรานว่าการกระทำทารุณโหดร้ายต่างๆ เป็นการกระทำโดยคนไม่กี่คน

ผู้สืบสวนของสหประชาชาติยังพบหลักฐานการวิสามัญฆาตกรรมในหมู่บ้านหม่องนู และหมู่บ้านชุตปิน ในรัฐยะไข่ ซึ่งทางสำนักงานผู้บัญชาการกองทัพระบุว่า ศาลจะดำเนินการสอบสวนเหตุการณ์ที่ทั้งสองหมู่บ้านเช่นกัน

เมื่อปี 2561 กองทัพได้ตัดสินจำคุกสมาชิกกองกำลังความมั่นคงเป็นเวลา 10 ปี จากกรณีการสังหารชาวโรฮิงญา 10 คน ในหมู่บ้านอินดิน แต่ในเวลาต่อมา ทหารเหล่านั้นได้รับการปล่อยตัวหลังรับโทษได้ไม่ถึงปี

ส่วนนักข่าว 2 คนที่เปิดเผยเรื่องราวการสังหารหมู่กลับถูกจำคุกนานกว่า 16 เดือน ก่อนที่พวกเขาจะได้รับการอภัยโทษหลังทั่วโลกตำหนิคำตัดสินดังกล่าวและเรียกร้องการปล่อยตัว

รัฐยะไข่ยังคงเป็นพื้นที่ล่อแหลมต่อการเกิดความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และศาสนา และทหารยังคงจับสู้รบกับผู้ก่อความไม่สงบที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิการปกครองตนเองให้แก่ชาวพุทธชาติพันธุ์ยะไข่ มาตั้งแต่เดือน ม.ค.2562

การต่อสู้ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้สหประชาชาติส่งเสียงเตือนและเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เมื่อพลเรือนนับหมื่นต้องอพยพออกจากบ้านเรือนของตนเองเพื่อหลบกระสุนปืนใหญ่.
กำลังโหลดความคิดเห็น