xs
xsm
sm
md
lg

ชาวพม่าแห่หนีหลังมีคำสั่งอพยพคนหลายหมู่บ้านในยะไข่ กองทัพเตรียมกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชาวบ้านหอบหิ้วข้าวของอพยพจากเมืองระตีด่องมาถึงเมืองสิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่. -- Reuters.
รอยเตอร์ - ชาวบ้านหลายพันคนต้องหลบหนีออกจากบ้านในรัฐยะไข่ของพม่า หลังเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นแจ้งเตือนหัวหน้าหมู่บ้านหลายสิบแห่งว่า กองทัพวางแผนปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มก่อความไม่สงบ ตามการเปิดเผยของกลุ่มสิทธิมนุษยชนและสมาชิกสภาท้องถิ่น

แต่โฆษกรัฐบาลกล่าวในคืนวันเสาร์ (27) ว่าคำสั่งอพยพที่ออกโดยเจ้าหน้าที่กิจการชายแดนได้ถูกยกเลิกไปแล้ว และแม้ว่ากระทรวงกิจการชายแดนยอมรับว่าได้ออกคำสั่งผ่านเจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่น แต่ระบุว่า คำสั่งนั้นมีผลกับหมู่บ้านเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น

คำเตือนที่แจ้งถึงผู้นำหมู่บ้านต่างๆ มาในรูปของจดหมายเมื่อวันพุธ (24) ที่รอยเตอร์ได้เห็นและได้รับการยืนยันความถูกต้องจาก พ.อ.มิน ถั่น หนึ่งในคณะรัฐมนตรีประจำรัฐยะไข่

จดหมายที่ลงนามโดยอ่อง มี้น เต็ง พ่อเมืองระตีด่อง บอกกับผู้นำหมู่บ้านว่า เขาได้รับแจ้งว่ามีการวางแผนปฏิบัติการในหมู่บ้านจอก์ตัน และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งต้องสงสัยว่าเป็นที่กบดานของกลุ่มก่อความไม่สงบ

แม้ตัวจดหมายจะไม่ได้ระบุว่าคำสั่งมาจากที่ใด แต่ พ.อ.มิน ถั่น รัฐมนตรีความมั่นคงและกิจการชายแดนของรัฐยะไข่ กล่าวกับรอยเตอร์ว่า เป็นคำสั่งจากกระทรวงกิจการชายแดน หนึ่งใน 3 กระทรวงของรัฐบาลพม่าที่กองทัพควบคุมอยู่

“ปฏิบัติการกวาดล้างจะดำเนินการโดยกองกำลังทหารในหมู่บ้านเหล่านั้น
ขณะที่ปฏิบัติการกำลังดำเนินการ หากมีการสู้รบเกิดขึ้นกับผู้ก่อการร้ายกองทัพอาระกัน อย่าอยู่ที่หมู่บ้าน แต่ให้ย้ายออกไปชั่วคราว” จดหมาย ระบุ

พ.อ.มิน ถั่น กล่าวว่า ปฏิบัติการกวาดล้างที่ระบุอยู่ในจดหมายอ้างถึงปฏิบัติการทางทหารที่มุ่งเป้าผู้ก่อการร้าย

แต่ผู้ปกครองท้องถิ่นตีความคำสั่งจากกระทรวงผิดไป และปฏิบัติการจะเกิดขึ้นในพื้นที่เพียงไม่กี่หมู่บ้านเท่านั้น ไม่ใช่หลายสิบแห่งอย่างที่กล่าวถึง

ปฏิบัติการอาจใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์ พ.อ.มิน ถั่น กล่าวทางโทรศัพท์ และเสริมว่า ผู้ที่ยังอยู่ในพื้นที่จะถือว่าอยู่ฝ่ายเดียวกับกองทัพอาระกัน

เมื่อวันเสาร์ (27) ซอ เต โฆษกของรัฐบาลระบุในคำแถลงที่โพสต์บนเฟซบุ๊กว่า รัฐบาลได้สั่งการไม่ให้ทหารใช้คำว่า “ปฏิบัติการกวาดล้าง” และจดหมายที่สั่งให้ผู้คนอพยพหลบหนีก็ถูกเพิกถอนแล้ว

ปีนี้ กองทัพพม่าต่อสู้กับกองทัพอาระกัน กลุ่มติดอาวุธที่กองกำลังส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธยะไข่ ที่เรียกร้องสิทธิปกครองตนเองในพื้นที่ทางภาคตะวันตกแห่งนี้ หรือที่เรียกว่าอาระกัน

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน และต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นอีกหลายหมื่น องค์กร Save the Children ระบุว่า มีเด็กถูกฆ่า 18 คน และได้รับบาดเจ็บหรือพิการอีก 71 คน ระหว่างเดือน ม.ค.-มี.ค.

“ปฏิบัติการกวาดล้าง” เป็นคำที่ทางการพม่าใช้ในปี 2560 เพื่ออธิบายถึงปฏิบัติการที่เกิดขึ้นกับผู้ก่อความไม่สงบจากกลุ่มชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ในระหว่างการปฏิบัติการเหล่านั้น มีผู้คนหลายแสนคนต้องอพยพหลบหนีจากบ้านของตัวเอง

ในคำแถลงร่วมของสถานทูตอังกฤษ ออสเตรเลีย สหรัฐฯ และแคนาดาในพม่า เมื่อวันเสาร์ (27) ระบุว่า พวกเขารู้สึกวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อรายงานเกี่ยวกับปฏิบัติการกวาดล้างของทหารพม่าตามแนวหมู่บ้านจอก์ตัน และสถานการณ์ด้านความมั่นคงและมนุษยธรรมกำลังเลวร้ายลงเรื่อยๆ ทั่วทั้งภูมิภาค

“เราตระหนักถึงผลกระทบทางประวัติศาสตร์ของปฏิบัติการดังกล่าวที่ส่งผลกระทบต่อพลเรือนอย่างไม่เหมาะสม” คำแถลงร่วมระบุ และยังเรียกร้องให้ผู้ใช้อาวุธทุกฝ่ายยับยั้งชั่งใจขณะอยู่ในพื้นที่ที่ชุมชนท้องถิ่นอาศัยอยู่ เนื่องจากบางคนอาจไม่สามารถหาทางหลบหนีไปที่อื่นได้

ด้วยคาดว่าจะมีปฏิบัติการครั้งใหม่ พ.อ.มิน ถั่น กล่าวว่า ประชาชนราว 80 คน ได้หลบหนีออกจากหมู่บ้านจอก์ตันไปยังที่ต่างๆ ในเมืองระตีด่อง และว่ากองทัพได้เตรียมที่พักและอาหารไว้

มีประชาชนอย่างน้อย 1,700 คน หลบหนีไปที่เมืองโปนนากุนที่อยู่ติดกัน ส่วนอีก 1,400 คน อาศัยหลบภัยอยู่ในหมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งต้องการอาหารและสิ่งของจำเป็นต่างๆ กลุ่มมนุษยชนและสมาชิกสภาท้องถิ่นเมืองระตีด่อง ระบุ

รอยเตอร์ได้ติดต่อไปยังโฆษกทหารเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับปฏิบัติการแต่ไม่มีใครตอบรับ และรอยเตอร์ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างอิสระว่ามีคนจำนวนเท่าใดที่หลบหนีออกจากที่อยู่อาศัยของตัวเอง

เบอร์มาฮิวแมนไรท์เน็ตเวิร์ค กลุ่มสิทธิมนุษยชนในอังกฤษ ระบุอ้างแหล่งข่าวท้องถิ่นว่า ชาวบ้านจากหมู่บ้าน 39 แห่ง ได้เริ่มหลบหนีออกจากพื้นที่ นับตั้งแต่มีคำสั่งออกมาเมื่อวันพุธ (24)

จอก์ตัน เป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนหลายหมื่นคนจากทั้งชุมชนชาวโรฮิงญาและชาวยะไข่ ตามการระบุของสภาชาติพันธุ์ยะไข่ นักข่าวถูกกันออกจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐยะไข่ และรัฐบาลได้สั่งการปิดสัญญาณอินเทอร์เน็ตในหลายพื้นที่ของรัฐ ทำให้การตรวจสอบข้อมูลเป็นไปได้ยาก.
กำลังโหลดความคิดเห็น