รอยเตอร์ - นางมิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเผยว่า ผู้คนในรัฐยะไข่ของพม่ามากถึง 10,000 คน ต้องหลบหนีออกจากบ้านเรือนของตนเอง หลังเกิดการสู้รบอย่างหนักในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างกองกำลังทหารฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มก่อความไม่สงบชาติพันธุ์
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) ระบุว่า มีประชาชนอย่างน้อย 2,800 คน ได้หลบหนีการต่อสู้ที่เกิดขึ้นตามการประเมินก่อนหน้านี้ แต่จำนวนของผู้อพยพที่แท้จริงนั้นอาจสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยขอบเขตและผลกระทบของการปะทะยังไม่เป็นที่แน่ชัด
รัฐบาลและโฆษกทหารไม่ได้ตอบรับโทรศัพท์จากรอยเตอร์ที่ติดต่อเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับจำนวนผู้หลบหนี หรือรายงานเกี่ยวกับการต่อสู้ระหว่างกองทัพและผู้ก่อความไม่สงบกองทัพอาระกัน (AA)
“จากการประเมินชี้ว่า มีราษฎรมากถึง 10,000 คน หลบหนีออกจากพื้นที่ไปแล้ว เมื่อกองทัพดำเนินการรุกไล่โจมตีอย่างหนัก” นางมิเชล บาเชเลต์ กล่าวต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนยังที่ประชุมในนครเจนีวา ระหว่างการอภิปรายเรื่องพม่า
หน่วยงานของสหประชาชาติอ้างรายงานจากพันธมิตรท้องถิ่นและแหล่งข่าวสาธารณะสำหรับการประเมินจำนวนผู้พลัดถิ่น
แต่เป็นเรื่องยากสำหรับรอยเตอร์ที่จะตรวจสอบอย่างเป็นอิสระต่อรายงานการต่อสู้และการพลัดถิ่นเหล่านั้น เนื่องจากการจำกัดการเข้าถึงเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมอย่างเข้มงวดในรัฐยะไข่ และการห้ามนักข่าวเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งทำให้ยากที่จะตรวจสอบรายงาน
รายงานเกี่ยวกับการอพยพออกจากพื้นที่ของชาวบ้านเกิดขึ้นหลังผู้ปกครองท้องถิ่นได้เตือนหัวหน้าหมู่บ้านหลายสิบแห่งในเมืองระตีด่องเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า กองทัพวางแผนปฏิบัติการกวาดล้างผู้ก่อความไม่สงบและเรียกร้องให้ประชาชนออกจากพื้นที่
ในเวลาต่อมา โฆษกรัฐบาลระบุว่าคำสั่งอพยพถูกยกเลิกแล้ว และว่ารัฐบาลได้สั่งไม่ให้ทหารใช้คำว่าปฏิบัติการกวาดล้าง ขณะที่กระทรวงกิจการชายแดนพม่ายอมรับกับรอยเตอร์ว่าทางกระทรวงได้ออกคำสั่งอพยพจริง แต่คำสั่งมีผลกับหมู่บ้าน 2-3 แห่งเท่านั้น
“ปฏิบัติการกวาดล้าง” เป็นคำที่เจ้าหน้าที่พม่าใช้ในปี 2560 เพื่ออธิบายถึงปฏิบัติการที่เกิดขึ้นกับผู้ก่อความไม่สงบชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่
ระหว่างปฏิบัติการเหล่านั้น มีผู้คนหลายแสนคนต้องหลบหนีออกจากบ้านเรือนตนเอง โดยผู้ลี้ภัยได้กล่าวในตอนนั้นว่ากองทัพกระทำการสังหารหมู่และวางเพลิง ข้อกล่าวหาที่ฝ่ายกองทัพปฏิเสธ และระบุว่า กองกำลังทหารดำเนินการเพื่อตอบโต้การโจมตีเท่านั้น
UNHCR และ OCHA กล่าวในแถลงการณ์ร่วมว่า รายงานท้องถิ่นระบุว่าการยิงต่อสู้และการยิงปืนใหญ่เกิดขึ้นหลังคำสั่งอพยพ แต่ทั้งสองหน่วยงานเสริมว่าข้อมูลดังกล่าวยากที่จะตรวจสอบเพราะข้อจำกัดที่รัฐบาลกำหนดขึ้นเกี่ยวกับการเข้าถึงด้านมนุษยธรรม
นับตั้งแต่ปลายปี 2561 กองทัพพม่าต่อสู้กับกองทัพอาระกัน กลุ่มกำลังที่สมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธชาติพันธุ์ยะไข่และต่อสู้เรียกร้องสิทธิการปกครองตนเองให้แก่รัฐทางตะวันตกแห่งนี้ ซึ่งรู้จักกันในชื่อว่าอาระกัน
ชาวบ้านที่อพยพออกจากพื้นที่ต่อสู้ต้องอาศัยวัดในเมืองสิตตะเวเป็นที่พักพิง ตามการเปิดเผยของสมาชิกสภาในเมืองสิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่
“ตอนนี้เป็นฤดูฝน และผู้คนที่หลบหนีมามีเสื้อผ้าติดตัวมาแค่ชุดเดียว” ขิ่น ซอ วาย สมาชิกสภาเมืองระตีด่องกล่าวกับรอยเตอร์ทางโทรศัพท์
“พวกเขาไม่มีผ้าห่ม หมอน มุ้งไว้นอนตอนกลางคืน” ขิ่น ซอ วาย กล่าว
ขิ่น เอ วิน หญิงสาวอายุ 23 ปี ที่หลบหนีการต่อสู้มาพร้อมกับแม่และน้องสาว กล่าวกับรอยเตอร์ทางโทรศัพท์ว่า มีกระสุนปืนใหญ่ตกใกล้หมู่บ้านของเธอ ที่หมู่บ้านยังมีคนสูงอายุอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งยายของเธอด้วย
“ตอนนี้ทหารอยู่ใกล้หมู่บ้านของฉัน ฉันกลับไปที่นั่นไม่ได้” ขิ่น เอ วิน กล่าว.