xs
xsm
sm
md
lg

พม่าตัดสัญญาณเน็ตในยะไข่เข้าปีที่ 2 กลุ่มสิทธิชี้กำลังทำประชาชนเสี่ยงโควิดมากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - การปิดกั้นสัญญาณอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า ที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนอธิบายว่า เป็นการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตที่ยาวนานที่สุดในโลกนั้น ได้เข้าสู่ปีที่ 2 แล้วในวันนี้ (21) ที่ทั้งคนท้องถิ่น และนักรณรงค์ต่างเรียกร้องให้ยุติการปิดกั้นสัญญาณอินเทอร์เน็ตดังกล่าว เนื่องจากความวิตกเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในพื้นที่

ทหารพม่าเข้ามามีส่วนในสงครามกลางเมืองนองเลือดตั้งแต่เดือน ม.ค.2562 กับกลุ่มกองทัพอาระกัน (AA) กลุ่มก่อความไม่สงบที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองให้แก่ชาวพุทธชาติพันธุ์ยะไข่

รัฐบาลได้สั่งปิดสัญญาณข้อมูลโทรศัพท์มือถือในหลายเมืองทั่วรัฐยะไข่และรัฐชิน ที่อยู่ติดกัน เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2562 ส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่ราษฎรที่ต้องการรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่

ฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องการยุติการบังคับปิดกั้นสัญญาณอินเทอร์เน็ตโดยรัฐบาลที่กินเวลายาวนานที่สุดในโลกนี้ในทันที

“มันเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับพลเรือนที่จะได้รับข้อมูลที่จำเป็นเพื่อความปลอดภัยในช่วงที่มีการระบาดของโรคไปทั่วโลก” เจ้าหน้าที่ของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว

พม่ามีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สะสมที่ 287 คน และมีผู้เสียชีวิต 6 คน แต่ผู้เชี่ยวชาญวิตกว่าจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อที่อยู่ในระดับต่ำนี้เป็นผลจากการขาดการทดสอบหาเชื้อ

เจ้าหน้าที่รัฐบาลกล่าวเมื่อต้นเดือนว่า การปิดสัญญาณอินเทอร์เน็ตจะยังดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงอย่างน้อยวันที่ 1 ส.ค. ใน 8 เมือง

บริษัทด้านโทรคมนาคมระบุว่า รัฐบาลมีคำสั่งให้ปิดสัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อป้องกัน “กิจกรรมผิดกฎหมาย”

การต่อสู้ระหว่างทหารและกองทัพอาระกันส่งผลให้ประชาชนหลายหมื่นต้องพลัดถิ่นและมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตอีกจำนวนมาก โดยฝ่ายทหารและกองทัพอาระกันต่างกล่าวโทษกันถึงข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้น

ประชากรในพม่าส่วนใหญ่พึ่งพาโทรศัพท์มือถือในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อการสื่อสารและข้อมูล ทำให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ไร้สัญญาณอินเทอร์เน็ตมีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อโควิด-19 กลุ่มสิทธิมนุษยชนยังกล่าวประณามการปิดกั้นเว็บไซต์สื่อท้องถิ่นหลายราย และเรียกร้องให้บริษัทด้านโทรคมนาคมปฏิเสธคำสั่งของรัฐบาล

รัฐยะไข่ยังเป็นบ้านของโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมที่เผชิญต่อการปราบปรามอย่างรุนแรงโดยทหารในปี 2560 ชาวโรฮิงญาราว 750,000 คน หลบหนีความรุนแรงไปบังกลาเทศ เหตุการณ์ที่นำไปสู่การยื่นฟ้องพม่าในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยังศาลสูงสุดของสหประชาชาติ

โรฮิงญาราว 600,000 คน ที่ยังอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ มีชีวิตอยู่ในลักษณะที่องค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุว่า เป็นการเลือกปฏิบัติแบ่งแยก และจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนไหว

“เราต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนพลัดถิ่นในเมืองสิตตะเว และสิ่งที่เกิดขึ้นในบังกลาเทศ” ชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในเมืองมะรัคอู กล่าวกับเอเอฟพี

ส่วนครูในเมืองบุติด่องกล่าวว่า เขาไม่สามารถเข้าถึงบทเรียนจากสำนักงานการศึกษาก่อนเริ่มปีการศึกษาใหม่ในเดือน ก.ค. นี้ได้ เขาต้องการให้อินเทอร์เน็ตกลับมาใช้งานได้โดยเร็วที่สุด.


กำลังโหลดความคิดเห็น