รอยเตอร์ - เจ้าหน้าที่พม่าควบคุมตัวชาวโรฮิงญา 173 คน ที่โดยสารอยู่บนเรือลำหนึ่งนอกชายฝั่งทางภาคใต้ของประเทศ ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่วันนี้ (17) ความเคลื่อนไหวที่เป็นสัญญาณว่าน่าจะยังมีสมาชิกของชนกลุ่มน้อยมุสลิมอีกจำนวนมากกำลังเดินทางทางทะเลเพื่อหลบหนีการกดขี่ข่มเหง
ตุน ตุน นี โฆษกทหารระบุว่า กองทัพเรือได้เข้ายึดเรือที่กลุ่มชาวโรฮิงญาโดยสารมาได้ในเขตเมืองเกาะสอง ที่อยู่ในเขตตะนาวศรี ทางภาคใต้ของประเทศเมื่อวันอาทิตย์ (15)
“กองทัพเรือของเราพบพวกเขาบนเรือที่น่าสงสัยในทะเล ซึ่งตำรวจจะดำเนินการตามกฎหมาย” ตุน ตุน นี กล่าวกับรอยเตอร์ทางโทรศัพท์
ชาวโรฮิงญามากกว่า 730,000 คน หลบหนีออกจากพม่าไปยังบังกลาเทศในปี 2560 เพื่อหลบหนีการปราบปรามของทหารที่ผู้สืบสวนสหประชาชาติกล่าวว่าเป็นการปราบปรามที่มีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และยังรวมถึงการสังหารหมู่และการข่มขืน
ในพม่า ยังมีชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่อีกราว 600,000 คน แต่ถูกจำกัดขอบเขตอยู่แต่ภายในค่ายพักและหมู่บ้านในรัฐยะไข่ ซึ่งพวกเขาไม่สามารถเดินทางได้อย่างเสรีหรือเข้าถึงการดูแลสุขภาพและการศึกษา
เป็นเวลาหลายปีที่ชาวโรฮิงญาทั้งในพม่าและบังกลาเทศโดยสารเรือที่จัดการโดยพวกลักลอบขนคนผิดกฎหมายในระหว่างเดือนพ.ย. ถึงเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่คลื่นลมสงบ แต่การเดินทางที่เสี่ยงภัยอันตรายมายังประเทศไทยและมาเลเซียมักทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเรือที่โดยสารมักมีสภาพทรุดโทรมและแออัด
มัต ทู ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานบริหารเมืองเกาะสอง กล่าวว่า ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่ากลุ่มชาวโรฮิงญาที่จับกุมตัวได้เมื่อวันอาทิตย์นั้น ออกเดินทางมาจากพม่าหรือบังกลาเทศ
“ตอนนี้เราควบคุมตัวพวกเขาไว้ที่เกาะแห่งหนึ่งของเมืองเกาะสองพร้อมกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เราพยายามทำให้แน่ใจว่าสิทธิมนุษยชนของพวกเขาได้รับการคุ้มครอง” มัต ทู กล่าวกับรอยเตอร์
ด้านเจ้าหน้าที่รักษาชายฝั่งบังกลาเทศกล่าวกับรอยเตอร์พวกเขายังไม่ทราบว่ามีเรือออกจากค่ายไปพม่า และหากทราบพวกเขาจะเข้ายับยั้ง
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่พม่าพบโรฮิงญามากกว่า 90 คน รวมเด็ก 23 คน ที่ชายหาดในเขตอิรวดี หลังเรือที่พวกเขาโดยสารเดินทางออกมาจากรัฐยะไข่ ทั้งหมดถูกนำตัวขึ้นศาลเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. และเผชิญกับข้อหาเดินทางอย่างผิดกฎหมาย
ชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนถูกจำคุกอยู่ตามเรือนจำต่างๆ และศูนย์กักกันเยาวชนทั่วประเทศ
วันนา ฉ่วย เลขาธิการร่วมสภากิจการศาสนาอิสลามในพม่า กล่าวกับรอยเตอร์ว่า รัฐบาลต้องตรวจสอบความเป็นพลเมืองของคนเหล่านั้นและมอบสถานะพลเมืองให้กับผู้ที่มีคุณสมบัติ ปัญหานี้จะกลายเป็นเรื่องยากในการแก้ไขหากเจ้าหน้าที่ไม่ยอมรับสิทธิของผู้คนที่อยู่ในค่ายต่างๆ.