เอเอฟพี - ศาลอาญาระหว่างประเทศอนุมัติรับรองการดำเนินการสอบสวนอย่างเต็มรูปแบบต่อกรณีที่กล่าวหาว่าพม่าก่ออาชญากรรมต่อชาวโรฮิงญา ในขณะที่พม่ากำลังเผชิญต่อแรงกดดันทางกฎหมายทั่วโลกเกี่ยวกับชะตากรรมของชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้
ผู้พิพากษาหนุนคำร้องของอัยการที่ร้องขอการสอบสวนในข้อกล่าวหาการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและการข่มเหงรังแกจากเหตุการณ์การปราบปรามของทหารต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาในปี 2560
การตัดสินใจของศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือไอซีซี (ICC) มีขึ้นหลังนางอองซานซูจี ตกเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกระบุชื่อในการยื่นฟ้องที่อาร์เจนตินาเกี่ยวกับอาชญากรรมต่อชาวโรฮิงญา
ชาวโรฮิงญามากกว่า 740,000 คน จำต้องหลบหนีข้ามแดนไปอาศัยในค่ายแออัดที่บังกลาเทศ จากความรุนแรงที่ผู้สืบสวนของสหประชาชาติระบุว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ศาลไอซีซี ที่กรุงเฮก ระบุว่า ได้อนุญาตให้อัยการดำเนินกระบวนการสอบสวนข้อกล่าวหาการก่ออาชญากรรมภายในขอบเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับพม่า ที่ยังรวมถึงข้อกล่าวหาของความรุนแรงที่กระทำอย่างเป็นระบบ การเนรเทศที่เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และการกดขี่ข่มเหงในเรื่องศาสนาหรือชาติพันธุ์ต่อชาวโรฮิงญา ซึ่งพม่าได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้มาโดยตลอด
พม่าไม่ได้เป็นสมาชิกของศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่ศาลระบุเมื่อปีก่อนว่ามีขอบเขตอำนาจต่อคดีการก่ออาชญากรรมต่อชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาเพราะบังกลาเทศ ที่ชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ในฐานะผู้ลี้ภัย เป็นสมาชิกศาล
ฟาโต เบนโซดา หัวหน้าอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ ได้รับอนุญาตให้เปิดการสอบสวนเบื้องต้นกรณีพม่าในเดือน ก.ย.2561 และยื่นขอดำเนินการสอบสวนอย่างเต็มรูปแบบในเดือน ก.ค.2562
เบนโซดา ระบุว่า รู้สึกยินดีกับการตัดสินใจของศาล และระบุว่า เป็นการพัฒนาที่สำคัญและส่งสัญญาณบวกไปถึงผู้ที่เป็นเหยื่อของอาชญากรรมอันโหดร้ายในพม่าและที่อื่นๆ.