เอเอฟพี - พม่าเผชิญต่อข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในคดีความที่แกมเบียยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ในวันจันทร์ (11) อันเนื่องจากการปฏิบัติของพม่าต่อชาวมุสลิมโรฮิงญา ตามการระบุของรัฐบาลแกมเบีย
แกมเบีย ระบุว่า ประเทศได้รับการสนับสนุนจากองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ที่มีสมาชิก 57 ประเทศ ในการดำเนินคดีต่อพม่าต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในกรุงเฮก
แกมเบีย กล่าวหาพม่าว่า ละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของสหประชาชาติจากการกระทำของทหารที่ผลักดันให้ผู้คนหลายแสนคนจากชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาต้องเข้าไปในบังกลาเทศ
ในปี 2560 การปราบปรามทางทหารอย่างรุนแรงบังคับให้โรฮิงญาราว 740,000 คน ต้องหลบหนีข้ามแดนไปอาศัยค่ายที่แออัดในบังกลาเทศ ความรุนแรงที่ผู้สืบสวนสหประชาชาติ ระบุว่า เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
คำฟ้องได้ขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ “มีคำสั่งให้พม่ายุติการกระทำที่เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และลงโทษผู้กระทำผิด และให้การฟื้นฟูเยียวยาเหยื่อโรฮิงญา” กระทรวงยุติธรรมของแกมเบีย ระบุ
แกมเบีย กล่าวว่า พม่าล้มเหลวที่จะปฏิบัติตามข้อผูกพันในการป้องกันและลงโทษการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และยังกล่าวหาว่า พม่ากระทำความรุนแรงและทำลายอย่างมุ่งร้ายด้วยเจตนาของผู้กระทำที่เป็นรัฐในการทำลายโรฮิงญา
แกมเบีย ที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นชาวมุสลิม กล่าวว่า ได้ออกมายื่นฟ้องในนามของประเทศที่เหลือในองค์การความร่วมมืออิสลาม และอาบูบาคาร์ ตัมบาดู รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของแกมเบียเคยเป็นอดีตอัยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ศาลอาญาระหว่างประเทศสำหรับรวันดา และเคยเยือนค่ายโรฮิงญาในบังกลาเทศ
แกมเบียยังขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศออกคำสั่งชั่วคราวเร่งด่วนขณะที่คดีอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อปกป้องชาวโรฮิงญาจากอันตรายเพิ่มเติม ด้วยการสั่งให้พม่าหยุดการกระทำที่เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทั้งหมดในทันที
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีปฏิกิริยาจากพม่าหรือศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในตอนนี้
ก่อนหน้านี้ เคยมีความพยายามทางกฎหมายที่จะนำพม่าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจากข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมต่อชาวโรฮิงญา แต่ความพยายามดังกล่าวได้หยุดลงกลางคัน
อัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ที่แยกออกจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเพื่อสอบสวนคดีอาชญากรรมสงคราม ได้ดำเนินการสอบสวนเบื้องต้นกับพม่าในปี 2561 แต่ยังไม่มีการยื่นฟ้องข้อหาแต่อย่างใด
ผู้สืบสวนของสหประชาชาติยังเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ยื่นเรื่องพม่าต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือตั้งศาลแบบเดียวกับรวันดา และอดีตยูโกสลาเวีย แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เกิดขึ้นเช่นเดิม.