xs
xsm
sm
md
lg

นายใหญ่สหประชาชาติร้องพม่ารับประกันว่าโรฮิงญาเดินทางกลับอย่างปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - เลขาธิการสหประชาชาติเรียกร้องพม่าให้รับประกันว่าผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่ถูกขับออกจากประเทศโดยปฏิบัติการของกองทัพจะเดินทางกลับประเทศอย่างปลอดภัย คำร้องที่เกิดขึ้นต่อหน้านางอองซานซูจี หลังร้องขอมานานกว่า 2 ปี นับตั้งแต่พม่าดำเนินการปราบปรามชนกลุ่มน้อยมุสลิม

คำกล่าวของนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เกิดขึ้นในที่ประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในกรุงเทพฯ โดยมี ซูจี ผู้นำโดยพฤตินัยของพม่าอยู่ในห้องด้วย และเขายังกล่าวว่า เขามีความวิตกกังวลอย่างมากต่อชะตากรรมของโรฮิงญา

ความรุนแรงในรัฐยะไข่เมื่อปี 2560 บังคับให้โรฮิงญามากกว่า 740,000 คนต้องหลบหนีและส่วนใหญ่ลี้ภัยอาศัยอยู่ในค่ายพักในบังกลาเทศ ที่ผู้สืบสวนสหประชาชาติ ระบุว่า เทียบได้กับการล้างเผ่าพันธุ์

อย่างไรก็ตาม แม้พม่าไม่ยอมรับว่าโรฮิงญาเป็นพลเมืองของประเทศ แต่ระบุว่าพม่ายินดีต้อนรับผู้ที่เห็นด้วยกับสถานะทางราชการที่อยู่ต่ำกว่าพลเมืองเต็มรูปแบบ และถ้าพวกเขาตกลงที่จะอาศัยอยู่ภายใต้การรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดหลังหมู่บ้านของพวกเขาถูกเผา

กูเตอร์เรส กล่าวว่า พม่าต้องรับผิดชอบในการทำให้แน่ใจว่าสภาพแวดล้อมนั้นเอื้ออำนวยต่อการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศอย่างปลอดภัย ด้วยความสมัครใจ มีเกียรติ และยั่งยืน

ขณะที่กูเตอร์เรสกล่าวนั้น ซูจี ซึ่งนั่งอยู่ในห้องด้วย ไม่ได้แสดงความรู้สึกอะไร

จนถึงปัจจุบัน มีชาวโรฮิงญาไม่กี่ร้อยคนเดินทางกลับพม่า ด้วยหลายคนกลัวการกดขี่ข่มเหงในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ

เลขาธิการสหประชาชาติยังเรียกร้องให้พม่าทำให้แน่ใจผู้มีบทบาทด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าถึงพื้นที่ที่โรฮิงญาเดินทางกลับได้อย่างเต็มที่และเป็นอิสระ

แม้สหประชาชาติจะกล่าวย้ำคำร้องขอ และการวิพากษ์วิจารณ์ไม่จบสิ้นจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนและผู้นำโลกของประเทศต่างๆ แต่พม่าก็ปฏิเสธที่จะผ่อนท่าทีต่อโรฮิงญา

พื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐยะไข่ยังคงปิดกั้นต่อเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์และนักข่าว ที่สามารถลงพื้นที่ได้เพียงในจุดที่อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด และอยู่ภายใต้การเดินทางที่มีทหารดูแล

ซูจีถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความล้มเหลวที่จะใช้อำนาจของตนในการปกป้องโรฮิงญาหลังเหตุความไม่สงบในปี 2560 และการปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยที่เกิดขึ้นยังทำลายภาพลักษณ์ของเธอในฐานะผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนในสายตาของโลกตะวันตก

รายงานของอาเซียนที่รั่วออกมาเมื่อต้นปีนี้ ระบุว่า ความพยายามส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศอาจใช้เวลาอีก 2 ปี

นอกจากนั้น ซูจียังเผชิญแรงกดดันจากการปฏิบัติของประเทศที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาจากชาติสมาชิกอาเซียน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่ต่างมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม.
กำลังโหลดความคิดเห็น