เอเอฟพี - ทางการพม่าประกาศเปิดรับการลงทุนดำเนินธุรกิจในรัฐยะไข่ ด้วยเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาพื้นที่ที่ถูกมองว่ายากจนที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ และจีนได้เข้ามาในพื้นที่แห่งนี้และพยายามที่จะเปลี่ยนพื้นที่ทางตะวันตกของประเทศซึ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ให้กลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมและการขนส่ง แต่ชาวบ้านในพื้นที่ต่างวิตกกันว่า พวกเขาจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เนื่องจากกฎระเบียบใหม่จำกัดวิถีปฏิบัติดั้งเดิมของพวกเขา
นาข้าวและป่าสักจะถูกเปลี่ยนเป็นพื้นราบเพื่อรองรับเขตโรงงานและท่าเรือน้ำลึกที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นประตูสู่มหาสมุทรอินเดีย
แต่คำมั่นสัญญาของรัฐเรื่องการพัฒนาพื้นที่มาพร้อมกับข้อจำกัดการทำประมงเพื่อให้ทางน้ำว่างสำหรับเรือจีน นับเป็นสถานการณ์ที่ทำลายวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น
“ผมอาจถูกทำร้ายหรือถูกจับถ้าจับปลาผิดกฎหมาย แต่ผมไม่มีทางเลือก ไม่อย่างนั้นครอบครัวของผมคงจะอดอยาก” อ่อง ยี คนท้องถิ่นกล่าวขณะตากกุ้งข้างกระท่อมเก่าในหมู่บ้านชาวประมงขนาดเล็กใกล้เมืองจอก์พยู (Kyaukphyu)
ปฏิบัติการทางทหารที่โหดร้ายเมื่อ 2 ปีก่อนทั่วพื้นที่ชายแดนทางเหนือของรัฐ ส่งผลให้ชาวมุสลิมโรฮิงญาหลายแสนคนต้องอพยพหลบหนี แต่พื้นที่ตอนกลางของรัฐยะไข่ไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากปฏิบัติการดังกล่าว
ขณะที่หลายประเทศหลายบริษัทยังคงลังเลที่จะลงทุนในรัฐแห่งนี้ แต่จีนไม่มีความรู้สึกหวาดหวั่นเช่นนั้น
ก๊าซหลายพันล้านลูกบาศก์เมตรและน้ำมันหลายล้านบาร์เรลจากแท่นขุดนอกชายฝั่งถูกส่งจากพื้นที่แห่งนี้ข้ามประเทศไปยังภาคใต้ของจีนในแต่ละปี เวลานี้ปักกิ่งยึดครองพื้นที่ดังกล่าวด้วยท่าเรือน้ำลึกซึ่งลงนามข้อตกลงในเดือน พ.ย.2561 และเขตเศรษฐกิจพิเศษใหญ่โตสำหรับโรงงานสิ่งทอและแปรรูปอาหาร
แม้เจ้าหน้าที่พม่าจะเผชิญต่อข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และไทย ต่างกำลังแข่งขันกับจีนที่จะเก็บเกี่ยวประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการทำงานกับประเทศที่อุดมด้วยทรัพยากรแห่งนี้
อองซานซูจี ผู้นำพลเรือนของพม่า ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์นิกเกอิของญี่ปุ่นเมื่อไม่นานนี้ว่า “พม่ายินดีต้อนรับเพื่อนทุกคนที่ยินดีที่จะร่วมมือกับเรา”
แต่ความรู้สึกที่รุนแรงของคนท้องถิ่นเคยขัดขวางโครงการในอดีต เช่น โครงการเขื่อนมิตโสน ที่ปักกิ่งให้การสนับสนุนในรัฐกะฉิ่น จำต้องหยุดชะงักเนื่องจากเผชิญต่ิการคัดค้านต่อต้านไปทั่วประเทศ
วันนี้ท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษจอก์พยู ถูกมองว่าเป็นผลงานสำคัญในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของจีนที่ขยายครอบคลุมไปทั่วโลกภายใต้ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน
เมื่อปีที่ผ่านมา พม่าประสบความสำเร็จในการปรับลดต้นทุนโครงการท่าเรือจาก 7,200 ล้านดอลลาร์ เป็น 1,300 ล้านดอลลาร์ แม้รายละเอียดของกรอบข้อตกลงที่เผยแพร่ออกมานั้นจะมีน้อยมาก เช่นเดียวกับโครงการภายใต้การนำของจีนโครงการอื่นๆ ในประเทศ
จีนครองสัดส่วนใหญ่ที่สุดของหนี้ต่างประเทศของพม่า ราว 4,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 40% แต่ฌอน เทอร์เนล นักเศรษฐศาสตร์และที่ปรึกษารัฐบาล กล่าวว่า ความวิตกที่ว่าโครงการจะแปรเปลี่ยนเป็นกับดักหนี้สำหรับพม่านั้นไม่มี พม่าจะไม่ติดบ่วงหากการลงทุนล้มเหลว อีกนัยหนึ่งคือ พม่าจะไม่ต้องรับผิดชอบหนี้ค้างชำระใดๆ
โซ วิน จากคณะกรรมการจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษจอก์พยู กล่าวว่า พม่าอยู่ในตำแหน่งเจรจาที่แข็งแกร่งเป็นฝ่ายควบคุม และยังยืนยันว่าคนท้องถิ่นจะมีโอกาสในตำแหน่งงานส่วนหนึ่งจากทั้งหมด 400,000 ตำแหน่งที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้จะนำมาสู่พื้นที่ และจะได้รับข้อตกลงการตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ดีมาก
แต่ที่ดินของ ซอ หม่อง นู เกษตรกรท้องถิ่นเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่คาดว่าจะถูกควบรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเขตพัฒนากว่า 10,000 ไร่
“ถ้ามีคนบอกให้พวกเราออกไป พวกเราจะไปอยู่ที่ไหน” ซอ หม่อง นู กล่าวถามด้วยความวิตก
โรงก๊าซบนฝั่งที่เปิดดำเนินการในปี 2556 ทำให้ชาวบ้านต้องย้ายออกจากที่ดินของตัวเอง
“พวกเขาแทบจะไม่ให้เงินเราเลย พอไม่มีที่ดิน เราก็กลายเป็นทาสคนอื่น” นู เอ ทา หญิงวัย 55 ปี กล่าวกับเอเอฟพี ขณะเดินไปตามแนวรั้วสูงรอบโรงก๊าซที่เธอเคยปลูกข้าวและผักต่างๆ
ซอ ละวิน นักเคลื่อนไหวเห็นด้วยกับคำกล่าวของคนท้องถิ่น และระบุว่า คนท้องถิ่นจะสูญสิ้นทั้งหมดจากโครงการที่ไม่แน่นอนเหล่านี้
“หากเงินจากรัฐยะไข่ถูกใช้ในรัฐยะไข่จริงๆ มันจะพัฒนาชั่วข้ามคืน” นักเคลื่อนไหว กล่าว.