MGR ออนไลน์ -- ผลการศึกษาความเป็นไปได้โครงการก่อสร้างทางด่วน หรือ Express Way จากกรุงพนมเปญไปยังชายแดนเวียดนามด้านนครโฮจิมินห์ออกมาแล้ว โดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือไจก้า (Japan International Agency/JICA) ได้มูลค่าการก่อสร้างทั้งหมดประมาณ 3,800 ล้านดอลลาร์ นับเป็นเงินมหาศาลสำหรับเส้นทาง 160 กิโลเมตร
แต่เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จถนนสายนี้ก็จะเป็นทางสายใหม่ แบบมอเตอร์เวย์ เชื่อมต่อตอนใต้ของอนุภูมิภาคเข้าหากัน ให้การคมนาคมขนส่งสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น สำนักข่าวกัมพูชารายงานเรื่องนี้อ้างนายสุ่น จันทอล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง
ทางด่วนจากพนมเปญสายนี้จะไปเชื่อมระบบทางหลวงของเวียดนาม ที่ด่านชายแดนบ่าเว็ต (Bavet) จ.สวายเรียง (Svay Rieng) ทางฝั่งกัมพูชา กับด่านหม็อกบ่าย (Mộc Bài) จ.เตยนีง (Tây Ninh) -- ที่นั่นอยู่ห่างจากนครโฮจิมินห์เพียง 62 กม. บนทางหลวงที่ขยายใหม่เป็น 4-6 ช่องจราจร
ปัจจุบันกรุงพนมเปญกับด่านชายแดนบ่าเว็ต เชื่อมถึงกันด้วยทางหลวงสายที่ 1 ซึ่งเป็นเส้นทางเก่าแก่แต่โบราณ เป็นเส้นเลือดใหญ่ในการขนส่งสินค้า ธุรกิจการลงทุน และการท่องเที่ยว ระหว่างประชาชนสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การมุ่งไปยังโฮจิมินห์ที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนในภาคใต้เวียดนาม -- แต่ทางหลวงเลข 1 เกือบตลอดทั้งสายยังคงเป็นถนน 2 ช่องจราจร
หากดูในแผนที่ก็จะพบว่า ทางหลวงหลวงเลข 1 หรือ ทางด่วน กับ ทางรถไฟ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ล้วนเป็นเส้นทางหลักสำคัญ สำหรับการคมนาคมขนส่ง ของทั้งอนุภูมิภาค -- จากกรุงพนมเปญมีทางหลวงสายที่ 5 ตัดผ่าน จ.พระตะบอง มาถึงชายแดนไทย ด้านอรัญประเทศ
ย้อนหลังไปเดือน เม.ย.2558 กัมพูชาได้เปิดใช้สะพานข้ามแม่น้ำโขงที่จุดเนอะเลิง [หรือ เนียะเลิง (Nea Leung) หรือ เนียกเลือง (Neak Loeung)] ใน จ.กันดาล ทางตะวันออกเฉียงใต้ของพนมเปญ ด้วยความช่วยเหลือส่วนใหญ่แบบให้เปล่าจากรัฐบาลญี่ปุ่น นับเป็นการเปิดความสะดวกครั้งสำคัญ ในการสัญจรบนทางหลวงสายสำคัญนี้ -- ไปยังเวียดนาม
เพราะเหตุใดทางด่วนพนมเปญ-บ่าเว็ต จึงมีมูลค่าสูงกว่าทางด่วนอีกสายหนึ่ง จากพนมเปญไปยังสีหนุวิลล์อย่างมากมายทั้งๆที่ระยะทางสั้นกว่า เมื่อเทียบกับโครงการหลังที่ยาวถึง 190 กม. แต่ค่าก่อสร้างเพียง 2,000 ล้านดอลลาร์ -- รัฐมนตรีกัมพูชาอธิบายว่า เนื่องจากทางด่วนไปยังเวียดนาม ต้องผ่านหนองบึงกับพื้นที่น้ำท่วมถึงทางที่ราบตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ เป็นระยะทางกว่า 80 กม.
รัฐมนตรีกัมพูชายังเปิดเผยอีกว่า ปัจจุบันองค์การไจก้าของญี่ปุ่นกำลังช่วยเหลือกัมพูชาศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างถนนหนทางอีกหลายสาย รวมทั้งโครงการรถไฟฟ้ายกระดับ "สกายเทรน" สายแรก 18 กม. เพื่อลดปัญหาการจราจรในเมืองหลวง โดยมีกำหนดแล้วเสร็จสิ้นปี 2562
.
.
สำหรับมอเตอร์เวย์สายใหม่นี้ รัฐบาลไม่มีงบประมาณเพียงพอ อีกทั้งยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะก่อสร้างหรือไม่อย่างไรหลังทราบผลการศึกษา หรือ จะเปิดเป็นโครงการรร่วมทุนกับเอกชนแบบ PPP หรือ เป็นการลงทุนสัมปทานแบบเทิร์นคีย์ เช่นเดียวกับทางด่วนพนมเปญ-พระสีหนุ ที่บริษัทจากจีนเป็นผู้ลงทุน และ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในเดือนนี้ หรือ ต้นปีหน้า
นอกจากนั้น "รัฐบาลยังพิจารณาเกี่ยวกับการขยายทางหลวงสาย 1 เป็นทางเลือกอีกด้วย" นายจันทอลกล่าว
เมื่อประเทศเข้าสู่สันติภาพ 20 ปีที่แล้วกัมพูชาได้เริ่มฟื้นฟูบูรณะ และก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ถูกทำลายจากสงครามกลางเมืองมา 2 ยุค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางคมนาคมระหว่างจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วมาก ด้วยความช่วยเหลือจากประเทศเพื่อนมิตรและองค์การระหว่างประเทศ ทั้งการช่วยเหลือให้เปล่า และ ในรูปเงินกู้ระยะยาว ระยะปลอดหนี้ยาวนานพิเศษและดอกเบี้ยต่ำพิเศษ
นอกจากการพัฒนาถนนหนทางแล้ว 20 ปีที่ผ่านมายังมีการก่อสร้าง สะพานข้ามแม่น้ำโขงกับแม่น้ำสายสำคัญต่างๆ นับสิบๆ แห่ง ทำให้การคมนาคมขนส่งสะดวกยิ่งขึ้นตามลำดับ รวมทั้งมีการฟื้นฟูบูรณะยกระดับ และซ่อมแซม เส้นทางคมนาคมในพื้นที่ห่างไกล อีกจำนวนมาก
ปีนี้กัมพูชาสามารถเปิดเดินรถไฟได้ครบทั้งระบบ เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี จากพนมเปญถึงชายแดนไทยถึงสถานีปอยเป็ต ฝั่งตรงข้าม อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว -- นอกจากนั้นยังมีแผนการก่อสร้างทางรถไฟในแผนแม่บทอีกถึง 3 เส้นทาง คือ พนมเปญ-เสียมราฐ พนมเป็ญ-กัมปงธม-กระแจ๊ะ กับ พนมเปญ-ชายแดนเวียดนาม
เมื่อต้นเดือนนี้กัมพูชาเพิ่งเปิดใช้ทางหลวงสาย 48 ตลอดทั้งสายอีกครั้งหนึ่ง หลังซ่อมแซมและบูรณะมาเป็นเวลาหลายเดือน นี่คือทางหลวงที่รัฐบาลไทยช่วยเหลือก่อสร้างพร้อมสะพานข้ามลำน้ำสำคัญอีกหลายแห่ง กลายเป็นเส้นเลือดการคมนาคมสำคัญที่สุด ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ไปยังตอนใต้ของประเทศ -- ระยะทาง 149 กม.จากชายแดนด้าน จ.ตราด-จ.เกาะกง ไปยัง อ.สเรย์อัมเบล กับ จ.พระสีหนุ
ทางหลวงสาย 48 "ถนนไทยสร้าง" ใช้มาตั้งแต่ปี 2551 และเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว ตลอดสิบปีที่ผ่านมามีการ "ซ่อมเล็ก" เป็นระยะๆ แต่เสียหายหนักเป็นระยะทางหลายสิบ กม. จนใช้การไม่ได้ในช่วงฤดูฝนปีนี้.