xs
xsm
sm
md
lg

รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ยกประเด็นจับกุมนักข่าวคุยพม่าร้องปล่อยตัวทันที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



รอยเตอร์ - ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ เรียกร้องการปล่อยตัวนักข่าวชาวพม่า 2 คน ของรอยเตอร์ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในพม่าโดยทันที ระหว่างพบหารือกับ กอ ติน รัฐมนตรีต่างประเทศของพม่า เมื่อวันเสาร์ (4) นอกรอบการประชุมระดับภูมิภาคในสิงคโปร์ ตามการเปิดเผยของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ

ฮีทเธอร์ นอยเอิร์ต โฆษกหญิงประจำกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า รัฐมนตรีพอมเพโอได้ยกประเด็นนักข่าวรอยเตอร์ 2 คน ที่ถูกควบคุมตัวขึ้นหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของพม่า และกล่าวว่า พวกเขาควรได้รับการปล่อยตัวโดยทันที และแสดงความรู้สึกวิตกของเราถึงการควบคุมตัวที่เกิดขึ้นนี้

กอ โซ อู อายุ 28 ปี และวา โลน อายุ 32 ปี กำลังเผชิญต่อโทษจำคุก 14 ปี จากข้อกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายความลับราชการ ซึ่งทั้งคู่ให้การแก้ต่างว่าไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา และให้การต่อศาลถึงวิธีที่พวกเขาติดกับดักของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ลวงพวกเขาด้วยเอกสารชุดหนึ่ง

ซอ เต โฆษกรัฐบาลพม่า กล่าวถึงข้อเรียกร้องของพอมเพโอ เกี่ยวกับการปล่อยตัวนักข่าวว่า คดีนี้อยู่ในกระบวนการศาล

“ตามรัฐธรรมนูญ ระบบศาลยุติธรรมของเราเป็นอิสระ ดังนั้น เราต้องรอและดูว่าศาลจะตัดสินใจอย่างไร รอยเตอร์ และครอบครัวของนักข่าวได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมภายใต้กฎหมาย ตัวอย่างเช่น พวกเขาสามารถจ้างทนายความที่พวกเขาต้องการได้” ซอ เต กล่าว

ในช่วงเวลาของการจับกุมนักข่าวเมื่อเดือน ธ.ค. นักข่าวทั้งคู่กำลังสืบสวนเหตุสังหารชายชาวมุสลิมโรฮิงญา 10 คน ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของรัฐยะไข่ การสังหารที่เกิดขึ้นระหว่างการปราบปรามของกองทัพที่หน่วยงานของสหประชาชาติ ระบุว่า ทำให้ประชาชนเกือบ 700,000 คน ต้องอพยพหลบหนีไปบังกลาเทศ

พอมเพโอ และกอ ติน ต่างถูกนักข่าวสอบถามตั้งแต่เริ่มต้นการประชุมว่า พวกเขาจะหารือถึงเสรีภาพสื่อและการแก้ไขปัญหาโรฮิงญาหรือไม่ ซึ่งทั้งคู่ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม

พอมเพโอ กล่าวแถลงข่าวระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ว่า สหรัฐฯ ยืนยันว่า การสนับสนุนของสหรัฐฯ ต่อการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยของพม่ายังคงดำเนินต่อไป และยังกล่าวถึงความสำคัญของขั้นตอนที่จำเป็นต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตด้านมนุษยธรรมในรัฐยะไข่

“ความคืบหน้าในสิ่งเหล่านี้ และประเด็นด้านความมั่นคงเป็นสิ่งสำคัญต่อการเปิดเสรีในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก” พอมเพโอ กล่าว

สหรัฐฯ ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรกับหม่อง หม่อง โซ นายพลของพม่า ที่กำกับดูแลการปราบปราบชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ภายหลังการประกาศว่าการปราบปรามที่เกิดขึ้นเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ ข้อกล่าวหาที่รัฐบาลพม่าปฏิเสธ.



กำลังโหลดความคิดเห็น