รอยเตอร์ - เลขานุการของคณะที่ปรึกษาระหว่างประเทศที่พม่าตั้งขึ้นเพื่อให้คำแนะนำว่าด้วยวิกฤติโรฮิงญาได้ลาออกจากตำแหน่ง อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่ลดความน่าเชื่อถือของคณะฯที่รัฐบาลพม่าตั้งใจจะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นต่อการแก้ไขปัญหา
นายกอบศักดิ์ ชุติกุล อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของไทย อธิบายถึงเหตุผลที่ตัดสินใจดังกล่าวกับรอยเตอร์ว่า คณะผู้เชี่ยวชาญจากท้องถิ่นและต่างชาติ ที่พบหารือกันเป็นครั้งที่ 3 ในกรุงเนปีดอสัปดาห์นี้ ยังคงถูกควบคุมและประสบกับความก้าวหน้าเพียงเล็กน้อยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่ก่อตั้งคณะขึ้นในเดือนม.ค. โดยเขาได้ลาออกจากคณะตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค. แต่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะก่อนหน้านี้
คณะที่ปรึกษาตั้งขึ้นโดยรัฐบาลพม่าและมีหน้าที่ให้คำแนะนำถึงวิธีการที่จะนำคำแนะนำของคณะที่ปรึกษาชุดก่อนหน้าที่มีนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติเป็นประธานไปปฏิบัติเพื่อแก้ไขวิกฤติในรัฐยะไข่
กอบศักดิ์กล่าวว่า คณะที่ปรึกษาถูกห้ามรับทุนจากต่างประเทศหรือตั้งสำนักงานถาวร และถูกบอกให้จัดการประชุมออนไลน์ ส่วนผู้แทนของกองทัพก็ปฏิเสธที่จะพบหารือกับคณะที่ปรึกษา
“พวกเขากำลังทำอะไร? จัดเลี้ยงฟุ่มเฟือยในกรุงเนปีดอ เดินทางไปทั่ว สิ่งที่อันตรายในตอนนี้คือมันกำลังหันเหความสนใจออกจากปัญหา และสร้างความเข้าใจผิดไปว่ามีหลายสิ่งดำเนินการสำเร็จไปแล้ว” กอบศักดิ์ กล่าว
พม่าเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์ครั้งใหม่จากผู้สอบสวนสิทธิมนุษยชนในสัปดาห์นี้จากการอพยพของชาวมุสลิมโรอิงญาราว 700,000 คน ที่หลบหนีการปราบปรามของทหารเมื่อปีก่อนในรัฐยะไข่ ที่สหรัฐฯ ระบุว่าเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์
ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ที่นางอองซานซูจีเลือกให้เป็นประธานคณะที่ปรึกษาการนำข้อเสนอเรื่องรัฐยะไข่ไปปฏิบัติ ไม่ได้ตอบรับคำขอความเห็นถึงการลาออกของนายกอบศักดิ์
คณะที่ปรึกษาเคยประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้ครั้งหนึ่งเมื่อต้นปี ที่นายบิล ริชาร์ดสัน หนึ่งใน 5 ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศของคณะที่ปรึกษาถอนตัวออกจากตำแหน่งในการประชุมครั้งแรกเมื่อเดือนม.ค. โดยให้เหตุผลว่าคณะที่ปรึกษาเป็นความพยายามที่จะลบล้างความผิดและเป็นปฏิบัติการเชียร์นางอองซานซูจี
กองกำลังรักษาความมั่นคงของพม่าถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุข่มขืนและสังหารผู้คนจำนวนมากระหว่างปฏิบัติการกวาดล้าง ที่เกิดขึ้นในเดือนส.ค. 2560 หลังการโจมตีของผู้ก่อความไม่สงบโรฮิงญา สหประชาชาติเรียกการปราบปรามดังกล่าวว่าเป็นตัวอย่างของการกวาดล้างชาติพันธุ์ ซึ่งพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาส่วนใหญ่
กอบศักดิ์กล่าวถึงทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่าที่ปกป้องตนเองจากข้อกล่าวหาดังกล่าว ด้วยการระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นกิจการภายในประเทศ พม่ากำลังจัดการปัญหาดังกล่าว และพม่าไม่ได้ทำอะไรผิด เรื่องราวถูกเล่าต่ออย่างไม่ถูกต้อง และเสริมว่านานาชาติควรมุ่งการสนับสนุนไปยังนางคริสตีน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติประจำพม่าคนใหม่ ที่ได้พบหารือกับผู้นำพม่าในการเยือนครั้งแรกเมื่อเดือนมิ.ย.