เอเอฟพี/รอยเตอร์/เอพี - นางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของพม่า กล่าวป้องการทำงานปีแรกของรัฐบาลพลเรือน ในการกล่าวปราศรัยต่อประชาชนในวันพฤหัสฯ (30) โดยระบุว่า พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ได้อุทิศตนเพื่อฟื้นฟูประเทศที่เสียหายจากการปกครองของทหารที่ยาวนานหลายทศวรรษ และรับทราบถึงความผิดหวังของประชาชนในช่วงปีแรกของการทำงาน และพร้อมที่จะก้าวลงจากตำแหน่งหากประชาชนไม่พอใจต่อความเป็นผู้นำของเธออีกต่อไป
นางอองซานซูจี กวาดคะแนนเสียงได้อย่างถล่มทลายจากการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์เข้านั่งเก้าอี้บริหารประเทศท่ามกลางความคาดหวังสูงลิบ แต่ 12 เดือนแรกของการอยู่ในอำนาจกลับเต็มไปด้วยอุปสรรค
เหตุความไม่สงบที่ปะทุขึ้นตามพื้นที่ชายแดนของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าผิดหวัง ส่งผลกระทบต่อนโยบายสำคัญ 2 ประการของ ซูจี คือ ความสงบสุข และการพัฒนา
แม้หลายคนในพม่ายังคงเคารพนับถืออดีตนักเคลื่อนไหวผู้นี้ แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากต่างชาติต่อฝ่ายบริหารของซูจี กลับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการตอบสนองอันเฉื่อยชาต่อการปราบปรามทางทหารที่เกิดขึ้นต่อชาวมุสลิมโรฮิงญา
ในการกล่าวปราศรัยที่ถ่ายทอดผ่านทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติในวาระครบรอบ 1 ปีของรัฐบาล ซูจี ย้ำว่า พรรคของเธอรับช่วงการปกครองของทหารที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน และเศรษฐกิจของประเทศยังไม่ให้ประโยชน์แก่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ยากจน ขณะที่ชนกลุ่มน้อยก็แสวงหาการปกครองตนเอง
“เราทำในสิ่งที่เราสามารถทำเพื่อประโยชน์ของชาติ และประชาชนของเราใน 1 ปี เรารู้ว่าเราไม่สามารถทำให้ก้าวหน้าได้เท่าที่ประชาชนต้องการ...แต่ 1 ปี เป็นระยะเวลาที่ไม่นาน เวลานี้เรากำลังพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงระบบที่อยู่มานานกว่า 50 ปี เราเห็นเป้าหมายของเราอย่างชัดเจน และเรากำลังมุ่งที่จะบรรลุเป้าหมายเหล่านั้น สิ่งนั้นคือความปรองดองแห่งชาติและความสงบสุข” ซูจี กล่าว
“เมื่อครั้งที่ฉันเข้าร่วมการเมือง ฉันได้ให้สัญญาไว้อย่างหนึ่งว่าฉันจะทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ นั่นคือทั้งหมด เพราะฉันไม่สามารถทำได้ดีไปกว่านั้นแล้ว ถ้าทุกคนคิดว่าฉันไม่ดีพอสำหรับประเทศของเรา และประชาชนของเรา หากมีคนใด หรือองค์กรใดสามารถทำได้ดีกว่าเรา เราพร้อมที่จะก้าวลง” ที่ปรึกษาแห่งรัฐ กล่าว
ในการกล่าวปราศรัยนาน 25 นาที ซูจี ยังตำหนิการตัดสินใจของสหประชาชาติที่จะสอบสวนข้อกล่าวหาว่ากองทัพว่าละเมิดสิทธิชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่
“เราไม่ยอมรับการตัดสินของสหประชาชาติ มันไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์ของประเทศเรา” ซูจี กล่าว โดยไม่ได้ชี้แจงรายละเอียด
ความรุนแรงในรัฐยะไข่ ทำให้ชาวโรฮิงญามากกว่า 75,000 คน ต้องหลบหนีเข้าไปในบังกลาเทศ พร้อมกับเปิดเผยเรื่องราวอันน่าตกตะลึงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิโดยกองกำลังรักษาความมั่นคง ทั้งการข่มขืน สังหาร และทรมานชาวบ้าน
ผู้สืบสวนสหประชาชาติเชื่อว่า กองกำลังทหารอาจก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในการปราบปราม ที่เกิดขึ้นหลังจากกองกำลังติดอาวุธโรฮิงญาสังหารตำรวจ 9 นาย ในเดือน ต.ค.2559
ก่อนหน้านี้ ซูจี ได้กล่าวเรียกร้องต่อประชาคมโลกให้เวลา และพื้นที่แก่พม่าในการจัดการต่อความสัมพันธ์ที่เปราะบางระหว่างชาวมุสลิมและชาวพุทธในรัฐยะไข่
รัฐยะไข่แตกแยกตามเส้นแบ่งทางศาสนา ด้วยชาวโรฮิงญามากกว่า 120,000 คน ยังคงติดอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ที่ตั้งขึ้นหลังเกิดเหตุความรุนแรงทางศาสนาในปี 2555
ก่อนการปราบปรามครั้งล่าสุดปะทุขึ้น ซูจี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการภายใต้การนำของนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติเพื่อให้แนะนำฝ่ายบริหารเกี่ยวกับรัฐยะไข่ และเมื่อต้นเดือน คณะกรรมการชุดนี้ได้เสนอให้ปิดค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศที่ชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ และระบุว่าข้อจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนไหวควรถูกยกเลิกเช่นกัน.