รอยเตอร์ - เรื่องเล่าสร้างความเกลียดชังจากต่างประเทศผลักดันให้ชุมชนต่างๆ ในพม่าแตกแยกออกจากกัน นางอองซานซูจี กล่าวในคำแถลงที่โพสบนสื่อสังคมออนไลน์วันนี้ (21)
ความอดทนและระยะเวลาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการฟื้นคืนความไว้วางใจระหว่างชุมชนต่างๆ ซูจีกล่าวกับคริสทีน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติประจำพม่าวานนี้ (20) ตามคำแถลงที่ระบุบนหน้าเพจเฟซบุ๊กของนางอองซานซูจี
นับตั้งแต่เดือนส.ค. มีชาวมุสลิมโรฮิงญาเกือบ 700,000 คน จากรัฐยะไข่ ต้องอพยพหลบหนีไปบังกลาเทศ หลังเกิดการปราบปรามของทหารตอบโต้การโจมตีของผู้ก่อความไม่สงบชาวโรฮิงญา ตามที่สหประชาชาติและหน่วยงานช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ระบุ
หลายคนรายงานเรื่องราวเกี่ยวกับการสังหาร การข่มขืน และการวางเพลิง ที่สหประชาชาติระบุว่าเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ ซึ่งฝ่ายพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว
“ที่ปรึกษาแห่งรัฐยังชี้ว่าเรื่องเล่าต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังจากนอกประเทศ ได้ผลักดันให้สองชุมชนแตกแยกออกจากกันมากยิ่งขึ้น” เนื้อความส่วนหนึ่งในคำแถลงระบุโดยไม่ได้เจาะจงถึงชื่อชุมชน
ในโพสเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ตั้งแต่เดือนส.ค. รัฐบาลของซูจีได้แสดงการสนับสนุนช่วยเหลือต่อบรรดาผู้ผลัดถิ่นจากความรุนแรงที่ไม่ใช่ชาวมุสลิม และกล่าวโทษประชาคมโลกที่เผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ถูกกล่าวหา
ชาวโรฮิงญาในพม่าถูกปฏิเสธการเป็นพลเมือง และถูกจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนไหวและการเข้าถึงบริการต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพและการศึกษา
ในเดือนนี้ พม่าและหน่วยงานของสหประชาชาติได้ลงนามร่างข้อตกลงว่าด้วยการเดินทางกลับของผู้ลี้ภัยโรฮิงญา ความเคลื่อนไหวที่แสดงถึงความสัมพันธ์ที่อบอุ่นขึ้นหลังจากความสัมพันธ์ลดลงถึงจุดต่ำสุดในปีก่อนเมื่อรัฐบาลระบุว่าหน่วยงานของสหประชาชาติได้จัดหาอาหารให้กับผู้ก่อการร้ายโรฮิงญา.