รอยเตอร์ - กลุ่มตรวจสอบธุรกิจของสวีเดน “Swedwatch” ออกเผยแพร่รายงานในวันนี้ (20) ระบุว่า บริษัทแคทเธอร์พิลลาร์ (Caterpillar) วอลโว่ (Volvo) และโคมัตสุ (Komutsu) มีส่วนต่อการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นในพม่าด้วยการขายเครื่องจักรที่ใช้โดยบริษัทเหมืองแร่ภายในประเทศที่เกี่ยวข้องต่อการเวนคืนที่ดิน การทำลายสิ่งแวดล้อม และความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ
ทั้ง 3 บริษัท “ดูเหมือนจะเป็นแบรนด์ที่มีบทบาทสำคัญ” ในเหมืองหยกผากัน (Hpakant) ของรัฐกะฉิ่น ที่อยู่ทางตอนเหนือของพม่า ตามการรายงานของ Swedwatch
งานวิจัยระบุว่า ประชาชนหลายพันคนต้องสูญเสียที่ดินของตนเองในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ขณะที่หลายร้อยคนอาจเสียชีวิตในแต่ละปีจากเหตุการณ์ดินถล่ม และน้ำท่วมที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการทำเหมืองเหล่านี้
“นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 20 มีการใช้งานเครื่องจักรหนักเพิ่มขึ้นอย่างมากในพม่า ทำให้สามารถสกัดแร่ได้ด้วยความเร็วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” Swedwatch ระบุ
พม่า เป็นผู้ผลิตอัญมณีรายใหญ่ และรัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของนางอองซานซูจี ได้ให้คำมั่นว่าจะควบคุมอุตสาหกรรมนี้ให้เข้มงวดมากขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์ดินถล่มในเหมืองหยกจนเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน ในปี 2558
แต่อย่างไรก็ตาม การทำเหมืองยังคงดำเนินไปอย่างรวดเร็วเช่นเดิม และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 14 คน หลังเศษแร่ที่กองพูนสูงยุบถล่มลงมาเมื่อเดือนก่อน
ผู้ให้สัมภาษณ์จากเมืองผากัน และพื้นที่โดยรอบกล่าวต่อ Swedwatch ว่า จากการทำเหมืองเพิ่มขึ้นนั้นทำให้ที่ดินของพวกเขาถูกยึดไปอย่างไม่ถูกกฎหมาย หรือถูกกดดันให้ขายที่
ชาวพม่าหลายร้อยครอบครัวต้องสูญเสียที่ดินทำกิน ขณะที่แหล่งน้ำต่างๆ กลายเป็นน้ำเสีย ตามการระบุของรายงาน
บริษัทวอลโว่ จากสวีเดน กล่าวต่อ Swedwatch ว่า บริษัทได้ตรวจสอบตัวแทนจำหน่ายในพม่าเกี่ยวกับประเด็นปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน
“เราคิดว่าเราไม่ได้มีส่วนร่วมในการละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ ในพม่า ตามที่เสนอในบทสรุปของ Swedwatch” โฆษกบริษัทวอลโว่ กล่าวต่อรอยเตอร์
“เราไม่สามารถควบคุมผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของเราในทั่วโลก ตลอดการใช้งานผลิตภัณฑ์และความหลากหลายของผู้ใช้งาน ที่จะไม่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่อาจมีความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน” โฆษกวอลโว่ กล่าว
บริษัทแคทเธอร์พิลลาร์ จากสหรัฐฯ ที่เป็นแบรนด์เครื่องจักรใหญ่ที่สุดในโลก กล่าวว่า ไม่มีความเห็นเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากที่อยู่ในรายงานของ Swedwatch ที่อ้างระเบียบปฏิบัติของบริษัทที่ให้คำมั่นว่า จะส่งเสริมสุขภาพ สวัสดิการ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชุมชน ในขณะที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน
ด้านบริษัทโคมัตสุ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามของรอยเตอร์ และอ้างความเห็นที่รวมอยู่ในรายงาน ซึ่งบริษัทจากญี่ปุ่นรายนี้กล่าวต่อ Swedwatch ว่า บริษัทได้พิจารณาที่จะดำเนินการประเมินสิทธิสำหรับพม่า และบริษัทจะระงับการขายให้แก่บริษัทที่รับผิดชอบต่อการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน แต่บริษัทยังไม่ได้รับรายงานเช่นนั้นจากพม่า
การผลิตหยกของพม่ามีมูลค่า 31,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2557 และตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงถึง 122,000 ล้านดอลลาร์ ตามการระบุของ Global Witness
Swedwatch กล่าวว่า เครื่องจักรหลายพันเครื่องที่ผลิตจากบริษัทเหล่านี้มีแนวโน้มว่าใช้งานอยู่ในเมืองผากัน พื้นที่อ่อนไหวสำหรับการต่อสู้ระหว่างกองกำลังของรัฐบาล และกองทัพกะฉิ่นอิสระ (KIA) ซึ่งความขัดแย้งนั้นส่งผลให้ประชาชนต้องอพยพละทิ้งบ้านเรือนมากกว่า 100,000 คน ตั้งแต่ปี 2554.