xs
xsm
sm
md
lg

ผู้สังเกตการณ์ซัดคณะไต่สวนรัฐยะไข่ชุดใหม่ของพม่าเป็นกลการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



เอเอฟพี - คณะกรรมการชุดใหม่ที่รัฐบาลพม่าตั้งขึ้นเพื่อสอบสวนข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐยะไข่ ถูกผู้สังเกตการณ์วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น “กลการเมือง” ในขณะที่พม่าพยายามจะขจัดเสียงตำหนิวิจารณ์ถึงการปฏิบัติของพม่าต่อชาวมุสลิมโรฮิงญา

รัฐบาลพม่าประกาศเมื่อค่ำวันจันทร์ (30) ว่า ได้จัดตั้งคณะกรรมการไต่สวนอิสระ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับขอบเขตอำนาจ หรือกรอบระยะเวลาในการจัดทำรายงานของคณะ

ทหารเข้าดำเนินการกวาดล้างตามหมู่บ้านชาวโรฮิงญา ปฏิบัติการที่เริ่มขึ้นในปลายเดือน ส.ค. หลังการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธ ที่เป็นผลให้ผู้คนราว 700,000 คน ต้องอพยพหลบหนีข้ามแดนไปบังกลาเทศ

โรฮิงญาได้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเข่นฆ่า การข่มขืน การทรมาน และวางเพลิง ด้วยฝีมือของกองทัพทหาร และชาวพุทธชาติพันธุ์ยะไข่ ในความรุนแรงที่สหประชาชาติ ระบุว่า เป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์

เดวิด แมทธีสัน นักวิเคราะห์ที่ประจำอยู่ในนครย่างกุ้งเรียกคณะกรรมการชุดใหม่ว่า เป็นกลการเมือง

“จากน้ำหนักของพยานหลักฐานที่รวบรวมโดยองค์การนิรโทษกรรมสากล สหประชาชาติ และสื่อต่างๆ ทำให้คณะกรรมการการสืบสวนชุดนี้เป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นการไต่สวนที่แท้จริง” แมทธีสัน กล่าว

สมาชิกของคณะกรรมการชุดใหม่ ประกอบด้วย ชาวต่างชาติ 2 คน และชาวพม่า 2 คน คือ โรซาริโอ มานาโล อดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงต่างประเทศฟิลิปปินส์ เคนโซ โอชิมะ อดีตทูตญี่ปุ่นประจำสหประชาชาชาติ มา เต็ง อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญพม่า และอ่อง ตุน เต๊ต หัวหน้าคณะทำงานของรัฐบาลพม่าเกี่ยวกับวิกฤตโรฮิงญา

ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ของบังกลาเทศเมื่อเดือน เม.ย. อ่อง ตุน เต๊ต ปฏิเสธว่ามีการกวาดล้างชาติพันธุ์โรฮิงญาเกิดขึ้นในรัฐยะไข่

ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) ชี้ว่า การไต่สวนเกี่ยวกับรัฐยะไข่ก่อนหน้านี้ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่ชัดเจน เป็นเรื่องยากอย่างมากที่จะนำไปสู่การฟ้องร้อง ล้มเหลวที่จะทำให้เกิดการชดใช้ ผลที่นำไปสู่การยกเว้นโทษ การบ่อนทำลายความยุติธรรม และผู้กระทำความผิดได้ใจ

สมาชิกคณะกรรมการชุดก่อนหน้านี้ 2 คน คือ ดร.กอบศักดิ์ ชุติกุล และบิล ริชาร์ดสัน ได้ลาออกจากตำแหน่งหลังแสดงความรู้สึกไม่พอใจต่อรัฐบาล

ริช เวียร์ นักวิจัยของฮิวแมนไรท์วอทช์ในพม่า ระบุว่า คณะกรรมการชุดใหม่จะถูกใช้เหมือนคณะกรรมการชุดก่อนๆ ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันการวิพากษ์วิจารณ์ และแรงกดดัน

ทหารปฏิเสธข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกือบทั้งหมด และชี้แจงเพียงว่า ปฏิบัติการกวาดล้างเป็นวิธีการที่จะกำจัดกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาที่สังหารเจ้าหน้าที่นับสิบนายเมื่อปลายเดือน ส.ค. ซึ่งองค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ประเมินว่า มีชาวโรฮิงญาถูกฆ่าอย่างน้อย 6,700 คน ในเดือนแรกของการปราบปรามของทหาร.


กำลังโหลดความคิดเห็น