รอยเตอร์ - มีประชาชนมากกว่า 4 ล้านคน ไม่ได้อยู่ร่างบัญชีรายชื่อพลเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียเมื่อวันจันทร์ (30 ก.ค.) ส่งผลให้พวกเขากลายเป็นคนไร้สัญชาติ จากการเปิดเผยของพวกนักเคลื่อนไหวซึ่งเชื่อมโยงคนเหล่านี้กับขนกลุ่มน้อยโรฮิงญาที่ถูกผลักดันออกจากพม่า
ความหวาดกลัวปกคลุมทัวรัฐอัสสัมที่ตั้งอยู่ตามแนวชายแดน ในขณะที่ผู้อำนวยการศูนย์การสำรวจสำมะโนประชากรของอินเดียเปิดเผยบัญชีรายชื่อพลเมืองของรัฐ ซึ่งไม่นับรวมบุคคลที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าพวกเขาหรือบิดามารดาเดินทางมายังอินเดียก่อนเดือนมีนาคม 1917 ตอนที่ชาติเพื่อนบ้านอย่างบังกลาเทศก่อตั้งขึ้น
รัฐอัสสัมตั้งอยู่ตามแนวชายแดนติดกับบังกลาเทศ และถูกปกคลุมไปด้วยความตึงเครียดทางสังคมและชุมชน เนื่องจากพวกชาวบ้านเคลื่อนไหวต่อต้านพวกคนอพยพผิดกฎหมาย หนึ่งในความเคลื่นไหวตีโต้กลับโดยรัฐบาลชาตินิยมฮินดูของนายกรัฐมนตรีนเรนดรา โมดี
“มันแปลว่าตอนนี้หลายล้านคนกลายเป็นคนไร้สัญชาติ” มีนัคี กันกูลี ผู้อำนวยการฮิวแมนไรต์วอตช์ประจำภูมิภาคเอเชียใต้ระบุ “มีเหตุผลต้องกังวลว่าพวกบุคคลที่ไม่มีเอกสารอย่างถูกต้องจะตกเป็นเป้าหมาย” เธอกล่าว พร้อมเตือนว่า “อินเดียไม่ควรกลายมาเป็นอีกหนึ่งพม่าหรืออีกหนึ่งสหรัฐฯ”
ชาวโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยมุสลิมไร้สัญชาติหลายแสนคน ถูกผลักดันออกจากพม่าเมื่อปีที่แล้ว และตอนนี้อาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพในบังกลาเทศ
ทั่วรัฐอัสสัมได้ยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มข้นขึ้น ในขณะที่ชาวมุสลิมหลายหมื่นคนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน กังวลว่าจะถูกส่งตัวไปยังค่ายกักกันหรือเนรเทศ
ผู้คนหลายแสนคนหลบหนีจากบังกลาเทศระหว่างสงครามประกาศเอกราชจากปากีสถานในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 เข้ามายังอินเดียและส่วนใหญ่ตั้งรกรากในรัฐอัสสัม
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่นั้น รัฐที่มีประชากรราว 33 ล้านคนแห่งนี้ก็ต้องเผชิญกับระลอกคลื่นแห่งความรุนแรงยืดเยื้อมาหลายทศวรรษ โดยพวกชาวบ้าน ในนั้นรวมถึงชนเผ่าชนพื้นเมือง ปะทะกับพวกผู้ตั้งถิ่นฐานทั้งฮินดูและมุสลิม ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเข้ามาปล้นทรัพยากรและงานไปจากชาวบ้านและชนเผ่าพื้นเมือง
รัฐบาลอ้างว่าร่างรายชื่อดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าจะผลักดันคนที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีออกไป และบุคคลที่ไม่มีชื่อจะสามารถยื่นขอให้ตรวจสอบใหม่ในกระบวนการหนึ่งซึ่งดูแลโดยศาลสูงของอินเดีย
อย่างไรก็ตาม อัสมิทู บาซู ผู้อำนวยการฝ่ายโครงการขององค์การนิรโทษกรรมสากลอินเดีย ระบุว่ารัฐบาลไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับพวกบุคคลที่กลายเป็นคนไร้สัญชาติ พร้อมเรียกร้องให้ขยายกรอบเวลาการยื่นอุทธรณ์ซึ่งจากเดิมจะหมดเขตในวันที่ 28 กันยายน รวมถึงมอบความช่วยเหลือทางกฎหมายและรับประกันว่าครอบครัวทั้งหลายจะไม่ถูกจับแยกกันในกระบวนการนี้