xs
xsm
sm
md
lg

กฤษฎีกา เปิดฟังความเห็นร่าง กม.ทะเบียนราษฎร รองรับคนไทยทั่วอาเซียน แก้ปัญหาจดทะเบียนเด็กเกิดไร้รากเหง้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กฤษฎีกา เปิดรับฟังความเห็นร่างแก้ไข พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร ฉบับใหม่ ถึง 31 ก.ค.นี้ เน้น ปรับปรุงการปฏิบัติทะเบียนราษฎร เพิ่มประสิทธิภาพรองรับจัดการ “คนไทยในประชาคมอาเซียน” อำนวยความสะดวกเป็นธรรม “แก้ไขปัญหาจดทะเบียนการเกิดของเด็กที่ไร้รากเหง้า” ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งแก้ไขปัญหาการแจ้งย้ายที่อยู่ การกำหนดเลขประจำบ้าน การจัดทำทะเบียนบ้านและทะเบียนบ้านชั่วคราวให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

วันนี้ (29 ก.ค.) มีรายงานข่าวจากกระทรวงมหาดไทย ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เปิดรับฟังความเห็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (รับฟังความคิดเห็นถึงวันที่ 31 ก.ค. 61) ภายหลังคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ในวาระที่หนึ่งเสร็จแล้ว จึงเห็นสมควรให้เผยแพร่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และจะนำความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ต่อไป

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงการปฏิบัติเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎร ให้มีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาบ้านเมือง รองรับการจัดการประชากรของประเทศไทยในประชาคมอาเซียนในการอำนวยความสะดวกเป็นธรรมและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนยิ่งขึ้น แก้ไขปัญหาการจดทะเบียนการเกิดของเด็กที่ไร้รากเหง้าให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งแก้ไขปัญหาการแจ้งย้ายที่อยู่ การกำหนดเลขประจำบ้าน การจัดทำทะเบียนบ้านและทะเบียนบ้านชั่วคราวให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

โดยก่อนหน้านั้น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้พิจารณาแก้ไขถ้อยคำในร่างพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับราชการบริหารของกระทรวงการต่างประเทศ เช่น การให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางมีหน้าที่กำหนดเลขประจำตัวแก่บุคคลที่ได้จดทะเบียนการเกิดที่สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลไทย การเพิ่มเติมเรื่องการทะเบียนราษฎรในต่างประเทศ เป็นต้น รวมทั้งเพิ่มข้อความในร่างมาตรา 34 จาก “ให้นายทะเบียนอำเภอและนายทะเบียนท้องถิ่น กำหนดเลขประจำบ้าน ให้กับบ้านทุกหลังที่ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารหรือกฎหมายอื่น...” เป็น “ให้นายทะเบียนอำเภอและนายทะเบียนท้องถิ่นกำหนดเลขประจำบ้าน ให้กับบ้านทุกหลังที่ปลูกสร้างในที่ดินที่ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารหรือกฎหมายอื่น...”

ร่างฉบับนี้ ในมาตรา 3 ให้ยกเลิกความในวรรคสามของมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินในการบริการประชาชนการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงในราชอาณาจักร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะอนุมัติให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐเชื่อมโยงข้อมูลที่ปรากฏในทะเบียนอื่นนอกจากทะเบียนตามวรรคสองเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นแก่การปฏิบัติหน้าที่ก็ได้”

มาตรา 4 ให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 16 ให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดเลขประจำตัวแก่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยหรือที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร และบุคคลที่ได้จดทะเบียนการเกิดที่สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลไทย ตามมาตรา 28 วรรคหนึ่ง คนละหนึ่งเลขโดยไม่ซ้ำกัน ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดเลขประจำตัวให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด หลักเกณฑ์ดังกล่าวต้องแยกระหว่างผู้มีสัญชาติไทยและผู้ไม่มีสัญชาติไทยด้วย”

มาตรา 5 ให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 19/2 เมื่อได้รับแจ้งการเกิดตามมาตรา 19 หรือมาตรา 19/1 แล้วให้นายทะเบียนดำเนินการพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง แล้วดำเนินการต่อไปตามมาตรา 20 ทั้งนี้ ให้ผู้พบเด็ก ผู้รับเด็กไว้และผู้แจ้งการเกิดให้ความร่วมมือกับนายทะเบียนในการดำเนินการพิสูจน์ตามที่นายทะเบียนร้องขอในกรณีที่ไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติได้ ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนประวัติและออกเอกสารแสดงตนให้เด็กไว้เป็นหลักฐาน ตามระเบียบและภายในระยะเวลาที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

ผู้ซึ่งได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงตนตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีหลักฐานแสดงว่าได้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปีและมีคุณสมบัติอื่นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนด ให้ผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องขอมีสัญชาติไทยได้ และเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นว่าผู้ยื่นคำร้องมีสถานะถูกต้องตามเงื่อนไขและมีคุณสมบัติครบถ้วนดังกล่าว ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศให้ผู้นั้นมีสัญชาติไทย ทั้งนี้ ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง และให้ถือว่าผู้นั้นมีสัญชาติไทยตั้งแต่วันที่รัฐมนตรีมีประกาศ

ผู้ซึ่งได้รับสัญชาติไทยตามวรรคสอง ถ้าภายหลังปรากฏหลักฐานว่ามีกรณีไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขหรือขาดคุณสมบัติ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประกาศเพิกถอนการให้สัญชาตินั้นโดยพลันให้นำความในมาตรานี้มาใช้บังคับกับบุคคลที่เคยอยู่ในความอุปการะของหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนตามมาตรา 19/1 แต่หน่วยงานดังกล่าวได้อนุญาตให้บุคคลอื่นรับไปอุปการะและบุคคลที่มิได้แจ้งการเกิดตามมาตรา 19 หรือมาตรา 19/1 ซึ่งได้ยื่นคำร้องตามมาตรา 19/3 หรือขอเพิ่มชื่อตามมาตรา 77 แต่ไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติได้ ด้วยโดยอนุโลม”

มาตรา 6 ให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 28 ให้กงสุลไทยหรือข้าราชการสถานทูตไทยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแต่งตั้งให้เป็นนายทะเบียน มีหน้าที่รับจดทะเบียนคนเกิด คนตาย และการทะเบียนราษฎรอื่นที่มีขึ้นนอกราชอาณาจักรสำหรับผู้มีสัญชาติไทย คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทยตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และคนต่างด้าวหรือคนไร้สัญชาติที่ถือเอกสารการเดินทางที่รัฐบาลไทยเป็นผู้ออกให้ หลักฐานการจดทะเบียนคนเกิดและคนตายดังกล่าวให้ใช้เป็นสูติบัตรและมรณบัตรได้

ถ้าในที่ซึ่งมีการเกิดหรือการตายตามวรรคหนึ่ง ไม่มีกงสุลไทยหรือสถานทูตไทยประจำอยู่ ให้ใช้หลักฐานการเกิดหรือการตายที่ออกโดยรัฐบาลของประเทศนั้น ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้แปลและรับรองว่าถูกต้องเป็นหลักฐานสูติบัตรและมรณบัตรได้การจดทะเบียนคนเกิดและคนตายตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการทะเบียนราษฎรอื่นตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตกลงกัน”

มาตรา 7 ให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 30 เมื่อผู้อยู่ในบ้านย้ายที่อยู่ออกจากบ้านเพื่อเปลี่ยนภูมิลำเนาให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่บุคคลในทะเบียนบ้านย้ายที่อยู่ออกจากบ้าน แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ย้ายที่อยู่ที่จะแจ้งย้ายออกต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งด้วยตนเอง แต่จะต้องแจ้งว่าจะย้ายเข้าไปอยู่บ้านใด หรือจะแจ้งต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่ตนจะไปอยู่ใหม่ก็ได้ ในกรณีที่ยังไม่ทราบว่าจะย้ายไปอยู่บ้านใด หรือยังมิได้ย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านใดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่แจ้งการย้ายที่อยู่ ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งย้ายชื่อและรายการของผู้นั้นไว้ในทะเบียนบ้านกลาง และเมื่อผู้ย้ายได้แจ้งการย้ายออกต่อนายทะเบียนแล้วให้หน้าที่ในการแจ้งย้ายบุคคลออกของเจ้าบ้านเป็นอันพับไป

ผู้ย้ายที่อยู่ที่จะแจ้งย้ายด้วยตนเองดังกล่าวต้องเป็นผู้มีอายุถึงสิบห้าปีแล้ว ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับผู้ย้ายที่อยู่เพื่อไปศึกษาหรือไปรับราชการในต่างประเทศ หรือไปทำธุรกิจหรือปฏิบัติงานชั่วคราวในต่างประเทศ แต่ไม่ห้ามบุคคลดังกล่าวที่จะแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านเดิม เพื่อไปอยู่ที่อยู่ใหม่หรือไปอยู่ในทะเบียนกลางเป็นการชั่วคราวเมื่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งการย้ายเข้าได้ดำเนินการย้ายบุคคลนั้นเข้าอยู่ในทะเบียนบ้านใดโดยมีหนังสือยินยอมของเจ้าบ้านนั้นแล้ว เจ้าบ้านดังกล่าวไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งตามมาตรา 30/1 อีก”

มาตรา 8 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 30/1 และมาตรา 30/2 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 “มาตรา 30/1 ภายใต้บังคับมาตรา 30 วรรคสาม เจ้าบ้านใดมีผู้ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านโดยมีเจตนาจะถือเป็นภูมิลำเนาให้แจ้งให้นายทะเบียนทราบเพื่อเพิ่มชื่อบุคคลนั้นเข้าในทะเบียนบ้านภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้ย้ายได้เข้าอยู่ในบ้าน เมื่อนายทะเบียนได้รับแจ้งแล้วถ้าผู้ย้ายเข้ายังมิได้ย้ายออกจากทะเบียนบ้านเดิม ให้นายทะเบียนดำเนินการแจ้งให้นายทะเบียนที่บุคคลนั้นมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เพื่อย้ายบุคคลนั้นออกจากทะเบียนบ้านเดิม และให้นายทะเบียนแจ้งให้เจ้าบ้านที่บุคคลนั้นมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดิมทราบ เพื่อนำทะเบียนบ้านของตนมาให้นายทะเบียนปรับปรุงทะเบียนบ้านให้ถูกต้องต่อไป

มาตรา 30/2 การแจ้งตามมาตรา 30 และมาตรา 30/1 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และในกรณีที่เป็นการแจ้งต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่ไปอยู่ใหม่โดยไม่ต้องแจ้งย้ายออก จะกำหนดให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมด้วยก็ได้”

มาตรา 9 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ของมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 “ในกรณีที่ศาลออกหมายจับผู้ใดตามคำร้องขอของเจ้าพนักงานตำรวจ หรือในกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจได้รับแจ้งจากศาลให้จับกุมผู้ใดตามหมายจับที่ศาลออกเอง ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมาภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ศาลออกหมายจับ ให้เจ้าพนักงานตำรวจแจ้งให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางทราบ และให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางดำเนินการให้นายทะเบียนย้ายผู้นั้นออกจากทะเบียนบ้านและเพิ่มชื่อและรายการของผู้นั้นไว้ในทะเบียนบ้านกลาง และให้หมายเหตุไว้ในรายการของบุคคลนั้นว่าอยู่ในระหว่างการติดตามตัวตามหมายจับด้วย การหมายเหตุดังกล่าวมิให้ถือว่าเป็นการจัดเก็บข้อมูลตามมาตรา 12 (2)

ผู้ใดมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลางตามวรรคสอง ถ้าผู้นั้นประสงค์จะย้ายออกจากทะเบียนบ้านกลาง ผู้นั้นต้องมาแสดงตนต่อนายทะเบียนที่จัดทำทะเบียนบ้านกลางนั้นพร้อมทั้งหลักฐานอันแสดงว่าหมายจับนั้นได้ถูกเพิกถอนหรือได้มีการปฏิบัติตามหมายจับนั้นเสร็จสิ้นแล้วการแจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารหรือหมายให้ผู้ถูกออกหมายจับ หรือผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลางตามวรรคสอง ถ้าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลนั้นหรือปิดหมายไว้ ณ ภูมิลำเนาหรือที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรที่ปรากฏครั้งสุดท้ายก่อนย้ายมาในทะเบียนบ้านกลาง ให้ถือว่าได้แจ้ง ยื่น ส่งหรือปิดหมายโดยชอบด้วยกฎหมายและผู้นั้นได้รับทราบแล้ว”

มาตรา 10 ให้ยกเลิกความในมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 34 ให้ทุกบ้านมีเลขประจำบ้าน บ้านใดยังไม่มีเลขประจำบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งเพื่อขอเลขประจำบ้านภายในสิบห้าวันนับแต่วันสร้างบ้านเสร็จ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเจ้าบ้านอาจขอให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งกำหนดเลขประจำบ้านและออกทะเบียนบ้านชั่วคราวให้ก่อนที่บ้านจะสร้างเสร็จก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ให้นายทะเบียนระบุไว้ในทะเบียนบ้านชั่วคราว
ว่าอยู่ในระหว่างการก่อสร้างให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งกำหนดเลขประจำบ้านให้แก่ผู้แจ้งซึ่งมีบ้านอยู่ในเขตสำนักทะเบียนท้องถิ่นภายในเจ็ดวัน ถ้ามีบ้านอยู่นอกเขตสำนักทะเบียนท้องถิ่นให้กำหนดเลขประจำบ้านภายในสามสิบวัน ทั้งนี้ นับแต่วันที่ได้รับคำขอ

ให้เจ้าบ้านติดเลขประจำบ้านไว้ในที่ซึ่งเห็นได้ชัดแจ้งการออกเลขประจำบ้านตามวรรคหนึ่งและการจัดทำทะเบียนบ้านตามมาตรา ๓๖มีวัตถุประสงค์เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของประชาชน ผู้ใดจะอ้างการออกเลขประจำบ้านหรือทะเบียนบ้านเพื่อแสดงว่าตนมีสิทธิในที่ดินหรือเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินมิได้

ให้นำความในมาตรานี้มาใช้บังคับกับเจ้าของอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นโรงงานคลังสินค้า หรือเพื่อประโยชน์อย่างอื่นอันมิใช่เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยตามที่กำหนดในกฎกระทรวงด้วยโดยอนุโลม”

มาตรา 11 ให้ยกเลิกความในมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 36 ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งจัดทำทะเบียนบ้านไว้ทุกบ้านที่มีเลขที่บ้านสำหรับผู้มีสัญชาติไทยและคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร และจัดทำทะเบียนอาคารสำหรับอาคารที่ได้รับเลขที่ตามมาตรา 34 วรรคห้าทะเบียนบ้านตามวรรคหนึ่งที่ออกให้แก่แพ หรือเรือซึ่งจอดเป็นประจำและใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือสถานที่หรือยานพาหนะอื่นซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยประจำ ให้ระบุสภาพของบ้านนั้นไว้ในทะเบียนบ้านด้วย

ทะเบียนอาคารตามวรรคหนึ่งให้ระบุสภาพของอาคารและวัตถุประสงค์ของอาคารนั้นไว้ในทะเบียนตามรายการที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดในการจัดทำทะเบียนบ้านหรือทะเบียนอาคารตามวรรคหนึ่ง ถ้าผู้ขอมิได้แสดงหลักฐานการได้รับอนุญาตก่อสร้าง หรือหลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือหลักฐานการมีสิทธิครอบครองในที่ดิน ให้นายทะเบียนระบุไว้ในทะเบียนว่าเป็นทะเบียนชั่วคราวการจัดทำทะเบียนบ้านและทะเบียนอาคารให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด”

มาตรา 12 ให้ยกเลิกความในมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 46 ผู้ใดมีหน้าที่ต้องแจ้งหรือปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าผู้นั้นได้มอบหมายให้บุคคลอื่นไปแจ้งหรือปฏิบัติแทนและผู้ได้รับมอบหมายได้แจ้งหรือปฏิบัติตามที่ได้รับมอบหมายแล้ว ให้ถือว่าผู้มีหน้าที่นั้นได้แจ้งหรือปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว”

ผู้รับสนองพระราชโองการ

…………………………

นายกรัฐมนตรี


กำลังโหลดความคิดเห็น