เอเอฟพี/รอยเตอร์ - สหภาพยุโรปประกาศว่าได้กำหนดมาตรการลงโทษต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงระดับสูงของพม่า 7 นาย จากกรณีวิกฤตโรฮิงญา โดยกล่าวหาว่า นายทหารทั้ง 7 นั้น ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ที่รวมทั้งการเข่นฆ่า และความรุนแรงทางเพศ
ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญาราว 700,000 คน ได้อพยพหลบหนีการปราบปรามของทหารออกจากรัฐยะไข่ตั้งแต่เดือน ส.ค.2560 กระบวนการที่สหประชาชาติ และชาติตะวันตกระบุว่า เปรียบได้กับการกวาดล้างชาติพันธุ์
การประชุมหารือของรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป ในลักเซมเบิร์ก ได้กำหนดมาตรการลงโทษกับนายพล 5 นาย ผู้บัญชาการป้องกันชายแดน และผู้บัญชาการตำรวจ ด้วยการห้ามเดินทางมายังสหภาพยุโรป และระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินอันเนื่องจากบทบาทของคนทั้งหมดในวิกฤตดังกล่าว
“บุคคลที่ถูกคว่ำบาตร คือ เจ้าหน้าที่กองทัพพม่า เจ้าหน้าที่ป้องกันชายแดน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากความเกี่ยวข้อง หรือมีส่วนร่วมของพวกเขาในการกระทำทารุณ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อประชากรโรฮิงญาในรัฐยะไข่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2560” คำแถลงของสหภาพยุโรป ระบุ
“การละเมิดเหล่านี้ รวมถึงการฆาตกรรมอย่างผิดกฎหมาย ความรุนแรงทางเพศ และการเผาบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างของชาวโรฮิงญาอย่างเป็นระบบ”
แม้ความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปกับพม่าจะอบอุ่นขึ้นภายหลังที่รัฐบาลเผด็จการทหารสละอำนาจในปี 2554 แต่วิกฤตโรฮิงญาทำให้สหภาพยุโรปต้องดำเนินมาตรการเข้มงวด และขึ้นบัญชีดำเจ้าหน้าที่ของพม่า ที่นับว่าเป็นการลงโทษที่หนักที่สุดที่เคยเกิดขึ้นจากสหภาพยุโรป
อังกฤษ กล่าวว่า การกำหนดมาตรการลงโทษจะเป็นการส่งสัญญาณถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพพม่าว่า โลกกำลังจับตามอง และผู้รับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิจะต้องถูกลงโทษ
“มาตรการลงโทษเหล่านี้เป็นการตอบสนองโดยตรงต่อความรุนแรงที่น่าตกใจ รวมถึงความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่เมื่อปีก่อน บุคคลที่ถูกขึ้นบัญชีเป็นผู้รับผิดชอบต่อหน่วยงานที่ถูกระบุว่าเป็นผู้กระทำผิดในความรุนแรงนี้” มาร์ค ฟิลด์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ ระบุในคำแถลง
หนึ่งในเจ้าหน้าที่ที่ถูกสหภาพยุโรปคว่ำบาตร คือ พล.ต.หม่อง หม่อง โซ ที่ก่อนหน้านี้ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรไปในเดือน ธ.ค.2560 โดยเมื่อปลายปีก่อน พล.ต.หม่อง หม่อง โซ ถูกย้ายออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการกองบัญชาการทหารภาคตะวันตกในรัฐยะไข่ พื้นที่ที่ทหารพม่าดำเนินการปราบปรามอย่างรุนแรง
“เขาเป็นผู้รับผิดชอบต่อการกระทำทารุณ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับประชากรโรฮิงญาในรัฐยะไข่โดยกองบัญชาการทหารภาคตะวันตกในช่วงเวลาดังกล่าว” สหภาพยุโรป ระบุในคำแถลง
นอกจากสหภาพยุโรปแล้ว แคนาดา ยังประกาศคว่ำบาตรเช่นเดียวสหภาพยุโรปต่อนายทหารระดับสูงของพม่าทั้ง 7 นาย จากวิกฤตโรฮิงญานี้
“สหภาพยุโรป และแคนาดาได้ประกาศคว่ำบาตรต่อผู้นำทหารระดับสูงบางส่วนที่มีความเกี่ยวข้องในการกระทำทารุณ และละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐยะไข่” คริสเตีย ฟรีแลนด์ รัฐมนตรีต่างประเทศของแคนาดา ระบุในคำแถลง
“แคนาดา และประชาคมโลกไม่สามารถนิ่งเฉยได้ นี่เป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ สิ่งเหล่านี้เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” คริสเตีย ฟรีแลนด์ กล่าว
ไม่กี่ชั่วโมงหลังคำแถลงของสหภาพยุโรป กองทัพพม่าระบุในคำแถลงว่า หม่อง หม่อง โซ ถูกไล่ออกจากตำแหน่งเมื่อวันจันทร์เนื่องจากผลงานที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายในการตอบโต้การโจมตีของผู้ก่อการร้ายโรฮิงญา
กองทัพพม่า ยังระบุว่า ผู้บัญชาการที่ถูกคว่ำบาตรอีกรายหนึ่ง คือ อ่อง กอ ซอ จากหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่ 3 ที่กำกับดูแลกองบัญชาการทหารภาคตะวันตก ได้รับอนุญาตให้ลาออกเมื่อเดือนพ.ค. โดยกองทัพกล่าวว่า พบข้อบกพร่องบางอย่างในการปฏิบัติหน้าที่
แต่คำแถลงของกองทัพไม่ได้กล่าวถึงการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปแต่อย่างใด.