xs
xsm
sm
md
lg

ไหงงั้น! สหรัฐฯ ถอนตัวพ้นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน UN แถมด่าส่งท้ายพวกตีสองหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ(ขวา) และ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำสหประชาชาติ นิกกี้ เฮลีย์ (ซ้าย) แถลงถอนอเมริกาออกจากสภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในวันอังคาร(19มิ.ย.) ณ กระทรวงการต่างประเทศอเมริกา ในกรุงวอชิงตัน
เอเอฟพี - สหรัฐฯ ประกาศถอนตัวจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในวันอังคาร (19 มิ.ย.) พร้อมประณามหมู่มวลสมาชิกส่งท้ายว่าเป็น “พวกตีสองหน้า” และกล่าวหาว่ามีอคติอย่างไม่หยุดหย่อนต่ออิสราเอล

เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ นิกกี เฮลีย์ เดินทางมายังวอชิงตัน เพื่อแถลงการตัดสินใจดังกล่าวเคียงข้าง ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ ในฐานะทูตสูงสุดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ทั้งสองยืนยันว่าอเมริกาจะยังเป็นผู้สนับสนุนตัวยงของสิทธิมนุษยชน แต่สำหรับหลายคนแล้วมองว่าการตัดสินใจครั้งนี้สะท้อนความเป็นปรปักษ์ของทรัมป์ต่อองค์กรโลกแห่งนี้และต่อเวทีการทูตพหุภาคีโดยทั่วไป

ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นหลังจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติวิพากษ์วิจารณ์วอชิงตัน ในกรณีพรากลูกผู้อพยพพ่อแม่ที่กำลังยื่นขอลี้ภัย หลังจากข้ามชายแดนจากเม็กซิโกไปยังสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เฮลีย์ และ พอมเพโอ ย้ำว่าการตัดสินใจครั้งนี้มีขึ้น หลังจากความพยายามผลักดันปฏิรูปคณะมนตรีแห่งนี้มานานนับปีไม่เป็นผล เช่นเดียวกับความพยายามถอดรัฐสมาชิกที่กระทำผิดเสียเองพ้นจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประสบความล้มเหลว

“การปฏิรูปเหล่านี้มีความจำเป็นเพื่อให้คณะมนตรีสนับสนุนสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง” เฮลีย์กล่าว “คณะมนตรีสิทธิมนุษย์คือผู้ปกป้องพวกละเมิดสิทธิมนุษยชนมานานเกินไปแล้วและเป็นแหล่งของพวกมีอคติทางการเมือง น่าเสียดาย ตอนนี้มันชัดเจนแล้วว่าเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปของเราถูกเพิกเฉย”

องค์กรที่มีสำนักงานในเจนีวาแห่งนี้ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 2006 เพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก แต่บ่อยครั้งที่คำแถลงและรายงานของพวกเขามักกระทบกระทั่งกับเป้าหมายของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคณะมนตรีนี้เพ่งเล็งไปที่พฤติกรรมของอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์ในเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา สองดินแดนที่ถูกยึดครอง ซึ่งกระพือความเดือดดาลของอเมริกา

อย่างไรก็ตาม เฮลีย์ย้ำว่า วอชิงตันเชื่อด้วยว่าคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งนี้ทำได้ต่ำกว่าความคาดหวังในการประณามเหตุล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างโจ่งแจ้งใน 2 ชาติคู่อริของสหรัฐฯ อย่างเช่นเวเนซุเอลาและคิวบา

“ประเทศต่างๆ ได้สมคบคิดกันและกันเพื่อบ่อนทำลายแนวทางเลือกชาติสมาชิกในปัจจุบัน” พอมเพโอกล่าว “และการมีอคติอย่างโจ่งแจ้งต่ออิสราเอลของคณะมนตรีนี้เป็นเรื่องที่ขาดสามัญสำนึก นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้น คณะมนตรีนี้ยกมือสนับสนุนมติประณามอิสราเอลมากกว่าองค์กรไหนๆ ในโลกรวมกันด้วยซ้ำ”

เฮลีย์ซึ่งเคยขู่เมื่อ 1 ปีก่อนว่าวอชิงตันอาจถอนตัวจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หากองค์กรแห่งนี้ไม่มีการปฏิรูป ได้ใช้ภาษาแข็งกร้าวกว่า โดยบอกว่า “เราต้องใช้มาตรการนี้เพราะว่าพันธสัญญาของเราไม่ยอมให้เราอยู่เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรหน้าซื่อใจคดและรับใช้แต่ตนเอง ลบหลู่สิทธิมนุษยชน” เธอกล่าว

ด้าน อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ แสดงความเสียใจต่อการตัดสินใจของสหรัฐฯ และระบุว่า “โครงสร้างสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติมีบทบาทสำคัญยิ่งในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก”


กำลังโหลดความคิดเห็น