xs
xsm
sm
md
lg

ยิว-มะกันเงิบ! สมัชชาใหญ่ UN ลงมติท่วมท้นประณาม “อิสราเอล” เข่นฆ่าปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คณะผู้แทน 120 ประเทศจากทั้งหมด 193 ประเทศในสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติโหวตสนับสนุนร่างญัตติประณามอิสราเอลที่ใช้ความรุนแรงต่อชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา เมื่อวานนี้ (13 มิ.ย.)
เอเอฟพี - ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติลงมติด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นจาก 120 ประเทศประณามอิสราเอลใช้ความรุนแรงเข่นฆ่าชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา พร้อมปฏิเสธเสียงเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้นานาชาติกล่าวโทษกลุ่มฮามาส

กลุ่มชาติอาหรับได้นำเสนอร่างญัตติซึ่งมีเนื้อหาประณาม “การใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ไม่เหมาะสม และไม่เลือกหน้า” ที่อิสราเอลกระทำต่อพลเรือนชาวปาเลสไตน์ และเรียกร้องให้ประชาคมโลกมีมาตรการปกป้องชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาและเขตเวสต์แบงก์

จนถึงขณะนี้มีชาวปาเลสไตน์ถูกทหารอิสราเอลยิงเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 129 คนจากเหตุชุมนุมประท้วงใกล้พรมแดนกาซาที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. ขณะที่อิสราเอลยังไม่มีผู้เสียชีวิตแม้แต่รายเดียว

ร่างญัตติที่แอลจีเรียและตุรกีนำเสนอต่อที่ประชุมในนามกลุ่มชาติอาหรับและมุสลิมได้รับเสียงสนับสนุนจาก 120 ประเทศ คัดค้าน 8 ประเทศ และงดออกเสียงอีก 45 ประเทศ จากรัฐสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศในสมัชชาใหญ่ยูเอ็น

นิกกี เฮลีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็น วิจารณ์ร่างญัตติดังกล่าวว่าเลือกข้าง “ฝ่ายเดียว” (one-sided) พร้อมกล่าวหาผู้นำชาติอาหรับว่าพยายามล็อบบื้ยูเอ็นให้ประณามอิสราเอลเพื่อเรียกคะแนนนิยมจากคนในประเทศตนเอง

“สำหรับบางประเทศ การโจมตีอิสราเอลคือเกมการเมืองที่พวกเขาโปรดปราน พวกเขาถึงได้มารวมตัวกันที่นี่วันนี้” เฮลีย์ กล่าวต่อที่ประชุม

สหรัฐฯ ได้เสนอร่างญัตติประณามขบวนการฮามาสซึ่งมีอิทธิพลในฉนวนกาซาว่าเป็นฝ่าย “ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง” ทว่าญัตติดังกล่าวตกไป เนื่องจากได้เสียงสนับสนุนจากที่ประชุมไม่ถึง 2 ใน 3

กลุ่มชาติอาหรับตัดสินใจนำร่างญัตติปกป้องชาวปาเลสไตน์เข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็นแทน หลังถูกสหรัฐฯ ใช้สิทธิ์วีโตยับยั้งในคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การลงมติในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็นไม่มีผลบังคับผูกพันต่อรัฐสมาชิก และไม่มีชาติใดสามารถใช้สิทธิ์วีโตได้ ซึ่งแตกต่างจากการลงมติในคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นที่สมาชิกถาวรทั้ง 5 ชาติมีสิทธิ์วีโตคัดค้านให้ร่างญัตตินั้นๆ ตกไป

ร่างญัตตินี้กำหนดให้เลขาธิการใหญ่ยูเอ็น อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เป็นผู้จัดทำและเสนอ “กลไกปกป้องจากนานาชาติ” (international protection mechanism) เพื่อชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในฉนวนกาซาและเขตเวสต์แบงก์ โดยอาจเป็นเพียงการตั้งคณะผู้สังเกตการณ์ หรืออาจถึงขั้นส่งกองกำลังรักษาสันติภาพอย่างเต็มรูปแบบ ทว่าตัวเลือกเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น และมีสิทธิ์ที่จะถูกสหรัฐฯ “วีโต” ได้อีก

ริยาด มันซูร์ เอกอัครราชทูตปาเลสไตน์ประจำยูเอ็น กล่าวต่อที่ประชุมว่า “สิ่งเดียวที่เราอยากจะวิงวอนขอ นั่นคือการช่วยปกป้องพลเรือนของเรา”

ด้าน เฟริดุน ฮาดี ซินีร์ลิโอกลู เอกอัครราชทูตตุรกีประจำยูเอ็น ก็ได้พูดปกป้องร่างญัตติประณามอิสราเอลว่าเป็นการ “เลือกเข้าข้างกฎหมายระหว่างประเทศ” และแสดงให้ชาวปาเลสไตน์ได้เห็นว่า “ทั่วโลกยังเป็นห่วงกังวลต่อความทุกข์ทรมานของพวกเขา”

แดนนี ดานอน เอกอัครราชทูตอิสราเอล วิจารณ์ร่างญัตตินี้ว่าเป็นความพยายาม “ลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของเราในการป้องกันตนเอง” พร้อมเตือนบรรดาทูตว่าการสนับสนุนร่างญัตตินี้ก็เท่ากับ “ส่งเสริมพวกฮามาสให้มีกำลังกล้าแข็งขึ้น”

จีนและรัสเซียโหวตสนับสนุนร่างญัตติประณามอิสราเอล ส่วนฝรั่งเศสเป็น 1 ใน 12 ประเทศสหภาพยุโรป (อียู) ที่ยกมือสนับสนุน ขณะที่อังกฤษ อิตาลี โปแลนด์ และอีก 13 รัฐอียูเลือกที่จะงดออกเสียง

8 ประเทศที่คัดค้านได้แก่ อิสราเอล, สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, หมู่เกาะมาร์แชลส์, ไมโครนีเซีย, นาอูรู, หมู่เกาะโซโลมอน และโตโก

สำหรับร่างญัตติประณามฮามาสของสหรัฐฯ นั้นได้รับเสียงสนับสนุนจาก 62 ประเทศ คัดค้าน 58 ประเทศ และอีก 42 ประเทศงดออกเสียง







กำลังโหลดความคิดเห็น