เอเอฟพี - รัสเซียเมินเสียงเรียกร้องจากองค์การสหประชาชาติที่ขอให้ยอมรับผิดกรณีเที่ยวบิน MH17 ของมาเลเซียแอร์ไลน์สถูกยิงตกเหนือน่านฟ้ายูเครนเมื่อปี 2014 หลังผลการสอบสวนยืนยันว่าขีปนาวุธต้นเหตุเป็นของกองทัพหมีขาว
ระหว่างที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้เปิดประชุมเพื่อถกปัญหายูเครนเมื่อวานนี้ (29 พ.ค.) สเต็ฟ บล็อก รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้เรียกร้องให้มอสโกยอมรับผลการสอบสวนที่สรุปว่า ขีปนาวุธ BUK-TELAR ที่สอย MH17 ร่วงนั้นมาจากกองพันขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานที่ 53 ในเมืองคุรส์ก (Kursk) ของรัสเซีย
“การยื่นคำขาดไม่ใช่สิ่งที่จะเอามาใช้กับรัสเซีย” วาสซิลีย์ เนเบนซีย เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำยูเอ็นกล่าว พร้อมยืนยันว่ามอสโก “ไม่อาจยอมรับข้อสรุปที่ไม่มีมูลของทีมสืบสวนร่วม (JIT)” ซึ่งรัฐบาลเนเธอร์แลนด์เป็นผู้นำ
เครื่องบินมาเลเซียแอร์ไลน์สซึ่งเดินทางจากกรุงอัมสเตอร์ดัมมุ่งหน้าไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ถูกขีปนาวุธยิงเข้าอย่างจัง ระหว่างบินผ่านน่านฟ้ายูเครนตะวันออกซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของพวกกบฏโปรรัสเซีย เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ปี 2014 เป็นเหตุให้ผู้โดยสารและลูกเรือรวม 298 คนเสียชีวิตทั้งหมด
รัฐมนตรีต่างประเทศดัตช์วิจารณ์คำพูดของ เนเบนเซีย ว่า “ไม่มีอะไรใหม่” และขอให้มอสโกร่วมมือกับเนเธอร์แลนด์และออสเตรเลียเพื่อระบุตัวตนผู้กระทำความผิด
นิกกี เฮลีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็น ออกมาสนับสนุนข้อเรียกร้องของเนเธอร์แลนด์และออสเตรเลียที่ต้องการให้รัสเซียยอมรับว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับโศกนาฏกรรมครั้งนี้ และนำตัวผู้ที่ทำผิดมาลงโทษ
“ถึงจะปฏิเสธเสียงแข็ง แต่ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่ารัสเซียคือตัวการปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในยูเครน” เฮลีย์ กล่าว
สงครามระหว่างกองทัพยูเครนกับกบฏในยูเครนตะวันออกที่มีรัสเซียหนุนหลังคร่าชีวิตประชาชนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 10,000 คน โดยความขัดแย้งเริ่มปะทุขึ้นเมื่อเดือน เม.ย. ปี 2014 หลังจากที่มอสโกใช้กำลังผนวกคาบสมุทรไครเมียเมื่อเดือน มี.ค. ปีเดียวกัน
พาฟโล คลิมกิน รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน กล่าวต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงว่า “ไม่แปลกใจเลย” ที่รัสเซียปฏิเสธผลการสอบสวน และทางการยูเครนมั่นใจว่าเหตุยิงโจมตีเครื่องบิน MH17 “เข้าข่ายก่อการร้าย”
คลินกิน ระบุด้วยว่า รัฐบาลยูเครนจะส่งเอกสารชี้แจงไปยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ในเดือนหน้า เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัสเซียละเมิดข้อตกลงต่อต้านการก่อการร้าย
รัฐมนตรีต่างประเทศโปแลนด์ จาเซ็ก ซาปูโตวิชซ์ ย้ำข้อเสนอให้มีการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปยังยูเครนตะวันออก และเรียกร้องให้เลขาธิการใหญ่ยูเอ็น อันโตนิโอ กูเตอร์เรส แต่งตั้งผู้แทนพิเศษกรณีความขัดแย้งยูเครน
นักการทูตระบุว่า รัสเซียซึ่งเป็น 1 ใน 5 สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นได้ใช้สิทธิ์ “วีโต” ขัดขวางไม่ให้คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นเข้าแทรกแซงเพื่อยุติความขัดแย้ง