เอเจนซีส์/รอยเตอร์ - เมื่อวานนี้ (24 พ.ค.) ถือเป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ต้อนรับผู้นำฝรั่งเศส ประธานาธิบดีเอมมานุแอล มาครง ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในระหว่างการเยือนรัสเซียเป็นเวลา 2 วัน ซึ่งในแถลงการณ์ร่วมที่ออกกับปูติน มาครงชี้ว่า “ฝรั่งเศส” ยอมรับในบทบาทของรัสเซียบนเวทีระว่างประเทศ รวมไปถึงในตะวันออกกลาง พบผู้นำ 2 ชาติเห็นพ้องให้ยังคงข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านต่อถึงแม้สหรัฐฯ จะถอนตัว ในขณะที่ผู้นำสูงสุดอิหร่าน อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ออกข้อเรียกร้อง 5 ข้อให้ยุโรปต้องทำตาม หรือเลือกที่จะยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ก่อนที่จะมีการหารือกันระหว่างตัวแทนชาติยุโรปและเตหะรานที่กรุงเวียนนา วันศุกร์ (25)
RT สื่อรัสเซียรายงานวันนี้ (25 พ.ค.) ว่า ผู้นำฝรั่งเศสได้กล่าวในการแถลงข่าวร่วมกับประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ในวันพฤหัสบดี (24) ว่า รัสเซียไม่สามารถที่จะมีใครมาแทนที่ได้ในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
โดยในการแถลงที่เมืองเซนต์ปีเตอรเบิร์กสำหรับแถลงการณ์ที่ยาวกว่า 20 นาที โดยเริ่มต้นจากประวัติความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้ง 2 ชาติ ประธานาธิบดีเอมมานุแอล มาครง แห่งฝรั่งเศสย้ำว่า ฝรั่งเศสถือเป็นรัฐเอกราช และการเจรจากับรัสเซียถือเป็น “คำประกาศแถลงการณ์ในฐานะความเป็นอิสระนี้”
“ผมตระหนักได้เป็นอย่างดีที่สุดถึงบทบาทของรัสเซียที่ไม่อาจถูกแทนที่ได้ในการแก้ปัญหาระหว่างประเทศ” มาครงกล่าวหลังจากได้หารือกับผู้นำรัสเซียนานร่วมหลายชั่วโมงก่อนหน้า
สื่อรัสเซียชี้ว่า คนทั้งคู่ได้ปรึกษาหารือในด้านปัญหาความขัดแย้งซีเรีย และข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่ง RT ชี้ว่าผู้นำทั้งสองมีความเห็นร่วมกันว่าข้อตกลงนี้สมควรต้องมีอยู่ต่อไปถึงแม้สหรัฐฯ จะถอนตัวออกไป
ทั้งนี้ ก่อนหน้าอ้างอิงจากสื่อสหรัฐฯ CNBC พบว่า ผู้นำสูงสุดอิหร่าน อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ออกข้อเรียกร้อง 5 ประการให้ยุโรปต้องทำตาม หรือเลือกที่จะยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ซึ่งพบว่าหลังจากที่สหรัฐฯได้ถอนตัวออกไปแล้ว ประเทศคู่สัญญาตามข้อตกลงที่ยังเหลืออยู่คือ อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส เยอรมัน และรัสเซีย ที่มีรายงานว่า จะมีการพบกันเกิดขึ้นกับตัวแทนชาติต่างๆที่ยังคงอยู่ในสนธิสัญญาและตัวแทนจากอิหร่านที่กรุงเวียนนาในวันนี้ (25)
ทั้งนี้ สื่อสหรัฐฯ ชี้ว่า คาเมเนอีออกเงื่อนไขขึ้นมาก่อนหน้าที่จะมีการหารือเกิดขึ้น ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ต่างชี้ว่า เป็นการยากที่บรรดาชาติยุโรปจะสามารถทำให้ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015 ยังคงอยู่ต่อไปได้หลังจากที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกไปแล้ว โดยข้อเรียกร้องของผู้นำสูงสุดอิหร่านประกอบไปด้วยดังนี้
***ยุโรปต้องนำมติเข้าไปยังที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติเพื่อประท้วงสหรัฐฯ ที่ได้ฝ่าฝืนมติข้อตกลง 2231ขององค์การสหประชาชาติในการรับรองข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน
***มิสไซล์อิหร่านและการปรากฏของภูมิภาคจะไม่อยู่ในการพิจารณาถกเถียงระหว่างผู้นำชาติต่างๆของยุโรป
***ยุโรปจำเป็นต้องต่อต้านการคว่ำบาตรทุกประการของสหรัฐฯ ที่มีต่ออิหร่าน
***หากว่าอเมริกาพยายามที่จะเข้าขวางการจำหน่ายน้ำมันของอิหร่าน ชาติยุโรปต้องให้การรับประกันในการที่จะซื้อน้ำมันจากอิหร่าน
***ยุโรปต้องให้การรับรองต่อความเชื่อมโยงระบบการธนาคารของอิหร่าน
ในรายงานพบว่า ทางผู้นำสูงสุดอิหร่านข่มขู่ว่า ทางเตหะรานสามารถเริ่มต้นดำเนินงานด้านนิวเคลียร์ได้ต่อ ซึ่งตามข้อตกลงปี 2015 ทางอิหร่านยอมจำกัดการเคลื่อนไหวเพื่อแลกเปลี่ยนการได้มาซึ่งการผ่อนคลายจากมาตรการว่าบาตร หากว่าข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านที่รู้จักในชื่อ ข้อตกลงร่วมว่าด้วยแผนปฏิบัติการครอบคลุม (Joint Comprehensive Plan of Action หรือ JCPOA) นั้นไม่เป็นประโยชน์กับอิหร่านอีกต่อไป
สำหรับข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ผู้นำรัสเซียได้กล่าวในแถลงการณ์ร่วมถึงเรื่องนี้ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กว่า “มีเหตุผลพื้นฐานใดที่จำเป็นต้องออกจากข้อตกลง เพราะผลที่ตามมานั้นจะเป็นสิ่งที่เลวร้ายมาก”
ถึงแม้ว่า ปูตินจะตั้งข้อสงสัยถึงการแก้ไขหรือการเพิ่มเติมในข้อตกลงที่ได้มีการเจรจาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้นจะช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ทางมาครงยืนยันว่า จำเป็นต้องมีการแก้ไขข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านใหม่เพื่อแก้ปัญหาโครงการมิสไซล์อิหร่านและความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นภายในภูมิภาค
รอยเตอร์รายงานล่าสุดวันนี้ (25) แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่อิหร่านออกมาเปิดเผยว่า ***เตหะรานยื่นเวลาเส้นตายภายในสินเดือนนี้ให้กับยุโรปในความพยายามที่จะทำให้ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านยังใช้การได้*** ซึ่งพบว่าในการประชุุมที่เกิดขึ้นในวันศุกร์ (25) ชาติต่างๆ ที่ยังคงร่วมอยู่ในข้อตกลงยังคงยืนยันที่จะให้ข้อตกลงยังคงใช้ได้ต่อไป
โดยในการให้สัมภาษณ์ก่อนหน้าการประชุม เจ้าหน้าที่อิหร่านกล่าวว่า “ทางเราคาดหวังว่าแพกเกจ (ทางเศรษฐกิจ) จะยื่นมาหาเราภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้” และกล่าวต่อว่า “ทางเราเสียใจที่ต้องกล่าวว่า ทางเรายังไม่ได้เห็นแผนบี แผนบีเพิ่งเริ่มต้นที่จะคิด”
แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่อิหร่านยืนยันว่า มาตรการของยุโรปต้องให้การรับรองว่า การส่งออกน้ำมันของอิหร่านจะไม่ถูกหยุด และทางอิหร่านจะยังคงสามารถเข้าถึงระบบการโอนเงินระหว่างประเทศ SWIFT ได้ต่อไป
ทั้งนี้ สื่อรัสเซียยังชี้ว่า เมื่อวานนี้ (24) ยังมีการประกาศข้อตกลงความริเริ่มร่วมกันระหว่างฝรั่งเศสและรัสเซียง สำหรับการสอบสวนร่วมในปัญหาการใช้อาวุธเคมีโจมตีในซีเรียที่ทางชาติตะวันตกกล่าวหาว่า “รัฐบาลซีเรีย” ใช้โจมตีเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาในเขตกูตาตะวันออก ใกล้กรุงดามัสกัส
DW สื่อเยอรมนีรายงานเพิ่มเติมว่า และสำหรับในการตอบปัญหาเกี่ยวกับเครื่องบินโดยสารมาเลเซียแอร์ไลน์สถูกยิงตกในยูเครนที่มีรายงานการสอบสวนล่าสุดออกมานั้น ผู้นำรัสเซียได้ตอบนักข่าวว่า “ทางเราได้เสนอให้มีการสอบสวนร่วม แต่ทางรัสเซียไม่ถูกอนุญาตให้เข้าร่วม และดังนั้นทางเราจึงไม่รู้ว่าการสอบสวนที่ว่านี้พบอะไรบ้าง”
และในการตอบคำถามปูตินเสริมว่า “ทางเราจะอ่านข้อสรุปและจะแถลงออกมาในภายหลัง”
สื่อเยอรมนีรายงานว่า ผู้นำฝรั่งเศสจะขึ้นกล่าวในงานที่รู้จักในชื่อ “รัสเซียดาวอส” หรืองานที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า เดอะ เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก อินเตอร์เนชันแนล อิโคโนมิก ฟอรัม(the St Petersburg International Economic Forum) ที่ถูกจัดขึ้นในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในช่วงนี้ และภายในงานนี้จะมีการลงนามข้อตกลงจำนวน 15 ข้อตกลงเกิดขึ้นในด้านการวิจัย วัฒนธรรม ภาษา และวรรณกรรม อ้างอิงจากแถลงการณ์ของผู้นำฝรั่งเศส
DW ชี้ว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปูตินได้มีโอกาสต้อนรับนายกรัฐมนตรีเยอรมนี อังเกลา แมร์เคิล คนทั้งคู่ได้หารือในด้านข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ความขัดแย้งซีเรีย ปัญหายูเครน โครงการท่อส่งก๊าซ นอร์ด สตรีม 2(Nord Stream 2) รวมไปถึงมาตรการป้องกันจากปัญหาความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างยุโรปและการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ
โดยหลังจากที่ปูตินจะพบกับประธานาธิบดีฝรั่งเศสในสัปดาห์นี้ พบว่าผู้นำรัสเซียจะพบกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ ซึ่งพบว่าในวันพฤหัสบดี (24) เขาได้เดินทางมุ่งหน้าไปรัสเซีย โดยอาเบะมีกำหนดการเยือนรัสเซียเป็นเวลา 3 วัน และมีหัวข้อการค้าอยู่ในการหารือกับประธานาธิบดีรัสเซีย ซึ่งรวมไปถึงโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจร่วมบนหมู่เกาะพิพาทคูริว ซึ่งทางรัสเซียใช้สิทธิ์เข้าครอบครองตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
โดยทั้งมาครงและอาเบะจะเป็นแขกพิเศษในงานประชุมทางเศรษฐกิจเดอะ เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก อินเตอร์เนชันแนล อิโคโนมิก ฟอรัม ซึ่งธีมของงานในปีนี้คือ การสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ หรือ Creating an Economy of Trust
และนอกจากผู้นำจากทั้ง 2 ชาติแล้วพบว่า ผู้อำนวยการสถาบันการเงินระหว่างประเทศ IMF คริสตีน ลาการ์ด และรองประธานาธิบดีจีน หวัง ฉีซาน (Wang Qishan) ถูกรับเชิญให้เข้าร่วม สื่อเยอรมนีรายงาน