เอเอฟพี - ทูตพิเศษสหประชาชาติประจำพม่าคนใหม่จะเดินทางเยือนกรุงเนปีดอครั้งแรกในเดือนหน้า เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤตผู้ลี้ภัยโรฮิงญา ตามการเปิดเผยของแหล่งข่าวสหประชาชาติ วานนี้
คริสทีน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ที่เคยทำหน้าที่ทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำเยอรมนี ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่นี้เมื่อเดือนก่อน จะจัดการพบหารือกับพม่าเป็นครั้งแรกในเดือน มิ.ย. หลังผู้แทนจากคณะมนตรีความมั่นคงเดินทางเยือนพม่าเมื่อไม่นานนี้
ชาวมุสลิมโรฮิงญาอย่างน้อย 700,000 คน ต้องอพยพหลบหนีออกจากพม่านับตั้งแต่ทหารดำเนินปฏิบัติการปราบปรามในรัฐยะไข่เมื่อเดือน ส.ค. ซึ่งอังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ และสหประชาชาติ ระบุว่า การปราบปรามที่เกิดขึ้นเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์
ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาอาศัยอยู่ในค่ายที่แออัดไปด้วยผู้คนในบังกลาเทศ แต่สหประชาชาติกำลังเรียกร้องให้คนเหล่านี้เดินทางกลับบ้านของตนเองในพม่าอย่างปลอดภัย
ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ที่เคยทำหน้าที่เอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ระหว่างปี 2552-2558 ได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตพิเศษเมื่อเดือน เม.ย. หลังค้นหาผู้รับตำแหน่งมานานนับเดือน และได้รับการยอมรับจากรัฐบาลพม่า
พม่าปฏิเสธที่จะอนุญาตให้ภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติแต่งตั้งขึ้นเดินทางเข้าประเทศ รวมถึง ยางฮี ลี ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษชนของสหประชาชาติด้วย
แหล่งข่าวสหประชาชาติไม่ได้ระบุวันที่ที่แน่ชัดสำหรับการเดินทางเยือน แต่ระบุว่า รัฐบาลพม่าเห็นพ้องในเรื่องนี้
ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ได้พบหารือกับนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติวานนี้เพื่อหารือถึงวิกฤตโรฮิงญา และในช่วงฤดูฝนจะส่งผลให้ผู้ลี้ภัยโรฮิงญากว่า 200,000 คน ต้องตกอยู่ในความเสี่ยงจากสถานการณ์น้ำท่วม และดินถล่มในค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองคอกซ์บาซาร์
พม่า ระบุว่า ปฏิบัติการทางทหารในรัฐยะไข่ มีเป้าหมายที่จะกำจัดกลุ่มหัวรุนแรง และยังคงมองว่าชาวโรฮิงญาเป็นคนต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิเป็นพลเมืองพม่า.