xs
xsm
sm
md
lg

โรฮิงญาหวั่นสูญที่ดินในรัฐยะไข่ หลังพม่าวางแผนใช้ประโยชน์พื้นที่ทิ้งร้าง พร้อมตั้งหมู่บ้านรับผู้ลี้ภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



รอยเตอร์ - ชาวมุสลิมโรฮิงญาที่กลับเข้ามาในพม่าหลังหลบหนีไปบังกลาเทศมีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถกลับคืนสู่ที่ดินของตนเองได้ และอาจพบว่าพืชผลที่ปลูกไว้จะถูกรัฐบาลเข้าเก็บเกี่ยว และนำไปขาย ตามการระบุของเจ้าหน้าที่ และแผนการที่สื่อต่างประเทศได้รับทราบ

ชาวโรฮิงญาเกือบ 600,000 คน ข้ามเขตแดนเข้าไปในบังกลาเทศตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค. เมื่อกลุ่มก่อการร้ายโรฮิงญาก่อเหตุโจมตีด่านตำรวจ ทำให้ทหารพม่าต้องดำเนินการปราบปรามตอบโต้อย่างรุนแรง

สหประชาชาติ ระบุว่า การสังหาร การวางเพลิง และการข่มขืนที่ดำเนินการโดยทหาร และกลุ่มม็อบชาวพุทธยะไข่ตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค. เป็นการดำเนินการกวาดล้างชาติพันธุ์ชาวโรฮิงญา

นางอองซานซูจี หัวหน้ารัฐบาลพลเรือนของประเทศที่ไม่สามารถควบคุมกองทัพได้นั้น ได้ให้คำมั่นว่า ผู้ที่อาศัยพักพิงในบังกลาเทศที่สามารถยืนยันได้ว่าตนเองเป็นชาวพม่าจะสามารถเดินทางกลับประเทศได้

รอยเตอร์ได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่พม่า 6 นาย ที่เกี่ยวข้องต่อแผนการส่งกลับประเทศ และการตั้งถิ่นฐานใหม่ และถึงแม้ว่าแผนการยังไม่เป็นที่สิ้นสุด แต่ความเห็นของเจ้าหน้าที่เหล่านี้สะท้อนความคิดของรัฐบาลถึงวิธีการการส่งกลับประเทศที่ซูจีได้ให้คำมั่นไว้ว่าจะดำเนินการ

จามิล อาห์เม็ด หนึ่งในชาวโรฮิงญาจำนวนมากที่หวังจะกลับไปพม่า กล่าวต่อรอยเตอร์ที่ค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ โดยอธิบายถึงวิธีการที่เขาหลบหนีออกจากบ้านของตนในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่ ในปลายเดือน ส.ค. อาห์เม็ด ระบุว่า หนึ่งในไม่กี่อย่างที่เขาคว้าติดมือมาด้วยคือกระดาษปึกหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องต่อสัญญาที่ดิน และใบเสร็จที่อาจพิสูจน์ได้ถึงความเป็นเจ้าของทุ่งนา และพื้นที่เพาะปลูกที่เขาทิ้งไว้เบื้องหลัง

“ผมไม่ได้เอาอะไรติดมาด้วย มีแค่เพียงเอกสารพวกนี้ ในพม่าคุณจำเป็นต้องแสดงเอกสารเพื่อพิสูจน์ทุกอย่าง” อาห์เม็ด กล่าว

กองกระดาษสีน้ำตาล และขาดวิ่นตามขอบเหล่านี้อาจไม่เพียงพอที่จะเรียกร้องสิทธิในที่ดินในหมู่บ้านจอก์ปันดู ที่เขาปลูกมันฝรั่ง พริก อัลมอนด์ และข้าว

“มันขึ้นอยู่กับพวกเขา ไม่มีสิทธิความเป็นเจ้าของที่ดินสำหรับผู้ที่ไม่มีสถานะพลเมือง” กอ ละวิน รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรในรัฐยะไข่ กล่าว เมื่อสอบถามถึงวิธีที่ผู้ลี้ภัยที่กลับมายังพม่าสามารถกลับมาใช้ประโยชน์ในที่ดิน และพืชผล

แม้อาห์เม็ด ถือครองที่ดิน แต่ทางการพม่าไม่ยอมรับอาห์เม็ดเป็นพลเมือง ด้วยเกือบทั้งหมดของชาวโรฮิงญามากกว่า 1 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในพม่าเป็นผู้ไร้สัญชาติ

เจ้าหน้าที่มีแผนที่จะเก็บเกี่ยว และอาจขายพืชผลบนพื้นที่เพาะปลูกหลายพันไร่ที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง หลังจากชาวโรฮิงญาหลบหนีไป

ทางการพม่ายังตั้งใจที่จะให้ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ที่เดินทางกลับมารัฐยะไข่อาศัยอยู่ใน “หมู่บ้านต้นแบบ” มากกว่าบนที่ดินที่พวกเขาเคยอาศัยอยู่ แนวทางที่ถูกสหประชาชาติวิพากษ์วิจารณ์ว่าหมู่บ้านที่ทางการตั้งใจสร้างขึ้นนั้นเป็นค่ายถาวร และรัฐบาลไม่ได้ร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานระหว่างประเทศใดๆ ที่เรียกร้องให้การกลับประเทศของผู้ลี้ภัยเป็นไปโดยความสมัครใจ และกลับไปยังสถานที่เดิมของผู้ลี้ภัยเหล่านั้น


การอพยพของชาวโรฮิงญามากถึง 589,000 คน และผู้ที่มิใช่ชาวมุสลิมอีกประมาณ 30,000 คนจากเขตพื้นที่ขัดแย้งในตอนเหนือของรัฐยะไข่ ได้ทิ้งพื้นที่ปลูกข้าวไว้ราว 180,000 ไร่ และจำเป็นต้องเก็บเกี่ยวภายในเดือน ม.ค. ตามแผนที่ร่างขึ้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

ตารางในเอกสารที่รอยเตอร์ได้เห็นระบุแยกที่ดินว่า เป็นนาข้าวของ “กลุ่มชาติพันธุ์แห่งชาติ” ซึ่งหมายถึงพลเมืองพม่า หรือของ “เบงกาลี” คำจำกัดความที่ใช้อย่างกว้างขวางในพม่าเพื่ออ้างถึงชาวโรฮิงญาที่หมายถึงผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ

กอ ละวิน มุขมนตรีรัฐยะไข่ ยืนยันถึงแผนการดังกล่าว และระบุว่า พื้นที่รวมทั้งสิ้นราว 110,000 ไร่ เป็นที่ดินที่เบงกาลีไม่ได้เป็นเจ้าของ

เครื่องมือเก็บเกี่ยวกว่า 20 เครื่อง ที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรจะเริ่มเข้าเก็บเกี่ยวพืชผลในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของทหาร ในเดือนนี้

เครื่องจักรจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ราว 36,000 ไร่ ตามข้อมูลการคำนวณของทางการที่ระบุอยู่ในแผนการ แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพืชผลที่เหลือ แต่เจ้าหน้าที่กล่าวต่อรอยเตอร์ว่าพวกเขาจะพยายามเก็บเกี่ยวข้าวในทุกไร่นา และอาจเกณฑ์แรงงานเพิ่มหากจำเป็น

พื้นที่ปลูกข้าวในพม่าขนาด 2.5 ไร่ มักทำรายได้มากกว่า 300 ดอลลาร์ ซึ่งหมายความว่า รัฐจะทำรายได้หลายล้านดอลลาร์จากข้าวที่เก็บเกี่ยวไปนี้

ข้าวที่เก็บเกี่ยวจะถูกส่งไปยังคลังของรัฐบาล ที่อาจนำไปบริจาคให้แก่ผู้พลัดถิ่นอันเนื่องจากความขัดแย้ง หรือนำไปขาย ตามการระบุของเลขาธิการรัฐยะไข่ ติน หม่อง ส่วย ที่กล่าวต่อรอยเตอร์ทางโทรศัพท์

“ที่ดินถูกทิ้งร้าง ไม่มีใครเข้าเก็บเกี่ยวพืชผล ดังนั้น รัฐบาลจึงได้สั่งการให้เข้าเก็บเกี่ยวพืชผลดังกล่าว” ติน หม่อง ส่วย กล่าว

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) ภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า อย่างน้อยรัฐบาลควรรับประกันว่าข้าวเหล่านี้จะถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนด้านมนุษยธรรม ไม่ใช่เพื่อการค้ากำไร

“คุณไม่สามารถเรียกผลผลิตข้าวเหล่านี้ว่าไร้เจ้าของเพียงเพราะคุณใช้ความรุนแรง และการวางเพลิงเข้าขับไล่เจ้าของออกไปจากประเทศ” ฟิล โรเบิร์ตสัน กล่าว

ผู้ลี้ภัยจำนวนมากต่างหวาดกลัวที่จะเดินทางกลับ และยังกังขาถึงการรับรองของพม่า ซึ่งผู้ที่ตัดสินใจเดินทางข้ามกลับเข้าไปในพม่าจะต้องเข้าไปอาศัยอยู่ในศูนย์ใดศูนย์หนึ่งจากสองแห่ง ก่อนที่จะถูกย้ายไปอยู่ในหมู่บ้านต้นแบบตามแผนของรัฐบาล

ผู้บริจาคต่างประเทศที่ดูแลผู้พลัดถิ่นภายในประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญามากกว่า 120,000 คน ซึ่งอาศัยอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวในรัฐยะไข่ตั้งแต่เกิดเหตุความรุนแรงในปี 2555 ได้บอกทางการพม่าว่า พวกเขาจะไม่สนับสนุนค่ายพักพิงใดๆ เพิ่มอีก

“การจัดตั้งค่ายชั่วคราวขึ้นใหม่ หรือการตั้งถิ่นฐานที่ดูเหมือนค่ายมีความเสี่ยงหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงว่าผู้ที่เดินทางกลับเข้ามา และผู้พลัดถิ่นภายในประเทศอาจจบลงด้วยการถูกกักขังอยู่ภายในค่ายเหล่านั้นเป็นเวลานาน” โฆษกสหประชาชาติ กล่าว

ภาพถ่ายดาวเทียมเผยให้เห็นหมู่บ้าน 288 แห่ง ที่ส่วนใหญ่เป็นที่อยู่ของชาวโรฮิงญาถูกเผาทำลายตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค. ตามการระบุของฮิวแมนไรท์วอทช์

ผู้ลี้ภัยกล่าวว่า ทหาร และกลุ่มม็อบชาวพุทธเป็นผู้ก่อเหตุวางเพลิง แต่รัฐบาลกล่าวว่า ผู้ก่อการร้ายโรฮิงญา และแม้แต่ผู้อยู่อาศัยเองที่เผาบ้านเพื่อโฆษณาชวนเชื่อ

ตามแผนการของรัฐบาล ผู้ที่ตัดสินใจข้ามกลับเข้ามาในพม่าจะต้องเข้าไปที่ศูนย์ใดศูนย์หนึ่งจาก 2 แห่ง ที่ผู้เดินทางกลับจะกรอกแบบฟอร์ม 16 ข้อ ที่จะเป็นการตรวจสอบความถูกต้องกับบันทึกของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ซึ่งเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองใช้เวลาหลายปีเยี่ยมเยียนครอบครัวชาวโรฮิงญาอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อตรวจสอบ และถ่ายภาพสมาชิกครอบครัว

สำหรับผู้ลี้ภัยที่เอกสารสูญหาย รัฐบาลจะเปรียบเทียบรูปถ่ายของผู้ลี้ภัยเหล่านั้นกับเอกสารของหน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง ตามการระบุของปลัดกระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมือง และประชากรของพม่า.
กำลังโหลดความคิดเห็น