เอเอฟพี - ผู้คนต่างศาสนาหลายหมื่นชีวิตรวมตัวชุมนุมกันที่สนามฟุตบอลในนครย่างกุ้ง วันนี้ (10) เพื่อแสดงออกถึงความเป็นหนึ่งเดียวในประเทศที่กำลังประสบปัญหาจากเหตุความรุนแรงที่เกิดต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาในบริเวณชายแดนด้านตะวันตกของประเทศ
ทั้งพระสงฆ์ ชาวพุทธ คริสต์ ฮินดู และมุสลิมต่างรวมตัวกันเพื่อแสดงการสนับสนุนรัฐบาลพม่าในการจัดการวิกฤตในรัฐยะไข่ หลังพื้นที่ชายแดนดังกล่าวประสบต่อเหตุความรุนแรงในช่วงปลายเดือน ส.ค. เมื่อผู้ก่อการร้ายโรฮิงญาเปิดฉากโจมตีด่านตำรวจหลายแห่ง ส่งผลให้ทหารต้องตอบโต้ด้วยการปราบปรามอย่างรุนแรงจนทำให้ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมมากกว่าครึ่งล้านชีวิตต้องหลบหนีออกจากบ้านของตนเอง
การอพยพของชาวโรฮิงญาสร้างความตกใจ และความวิตกไปทั่วโลก และสหประชาชาติกล่าวหาว่ากองทัพดำเนินการกวาดล้างชาติพันธุ์ต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมกลุ่มนี้
แต่เหตุความขัดแย้งดังกล่าวกลับถูกมองต่างออกไปภายในประเทศพม่าที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ และหลายคนเกลียดชังโรฮิงญา ทั้งยังกล่าวโทษคนกลุ่มนี้ว่า เป็นเหตุให้เกิดความไม่สงบ
การรวมตัวของผู้ที่นับถือต่างศาสนาราว 30,000 คน ในวันนี้ (10) เป็นการชุมนุมเพื่อให้การสนับสนุนนางอองซานซูจี และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่หลายคนชูภาพซูจีหรือสวมเสื้อที่มีรูปของซูจี
อองซานซูจี ถูกต่างชาติตำหนิอย่างหนักจากความล้มเหลวที่จะแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจต่อชาวโรฮิงญาที่ต้องอพยพหลบหนีความรุนแรงออกจากประเทศ และถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนตำหนิที่ไม่กล่าวประณามการปราบปรามของทหาร
“นี่เป็นพิธีที่แสดงให้โลกเห็นว่า ผู้คนจากทุกศาสนาในประเทศของเราล้วนเป็นมิตรต่อกันและรักกัน เรารู้สึกเสียใจอย่างมากต่อปฏิกิริยาของประเทศต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากข่าวสารซึ่งไร้ความจริง” วิน หม่อง นักการเมืองของพรรค NLD ที่ช่วยจัดการชุมนุมครั้งนี้ กล่าว
ในคำกล่าวปราศรัยต่อฝูงชน พระคาร์ดินัลชาร์ล หม่อง โบ ของพม่า กล่าวปกป้องซูจีอย่างหนักแน่น โดยย้อนไปถึงช่วงเวลาที่ซูจีอยู่ในฐานะนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร
“เธอไม่เคยร้องขอรางวัลโนเบลสันติภาพ ตอนนี้โลกมองพม่าว่าเป็นเหมือนประเทศที่ไร้หัวใจ แต่แท้จริงแล้วศาสนาสากลของชาวพม่าคือความเมตตา และความเห็นอกเห็นใจ” พระคาร์ดินัลชาร์ล หม่อง โบ กล่าวตอบโต้ถึงการเรียกร้องการปลดรางวัลโนเบลของซูจี
พม่าเป็นประเทศที่มีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 100 กลุ่ม แต่โรฮิงญาไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเป็นทางการของประเทศ และชาวพม่าส่วนใหญ่มองว่าชาวโรฮิงญาเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ.