รอยเตอร์ - นู บากุม ต้องการที่จะลงคะแนนเสียงให้แก่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ของอองซานซูจี แต่ก็เหมือนกับชาวมุสลิมโรฮิงญาส่วนใหญ่ของพม่า เธอไม่มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่ซูจีชนะอย่างถล่มทลายครั้งนี้
การถูกถอนสิทธิการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งโดยรัฐบาลชุดปัจจุบัน ทำให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากหวังว่ารัฐบาลที่นำโดยพรรค NLD จะทำงานเพื่อฟื้นคืนชีวิตความเป็นอยู่ และสิทธิต่างๆ ที่พวกเขาสูญเสียไปกลับคืนมา
“เราหวังว่าหลายสิ่งจะดีขึ้นบ้าง” นู บากุม อายุ 28 ปี คุณแม่ลูก 5 กล่าว ซึ่งหมู่บ้านที่เธออาศัยอยู่ถูกทำลายไปในช่วงเกิดเหตุรุนแรงระหว่างชาวพุทธ และมุสลิมในปี 2555 ในรัฐยะไข่
การจัดการต่อชาวโรฮิงญาเป็นหนึ่งในปัญหาที่ถูกถกเถียงมากที่สุด และไม่สามารถเลี่ยงได้ในรายการปัญหายาวเหยียดที่ซูจีจะรับช่วงต่อจากรัฐบาลชุดปัจจุบัน
แม้ซูจี จะได้รับการยกย่องจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในระหว่างการปกครองของรัฐบาลทหาร แต่ซูจี ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ที่กล่าวถึงเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ชาวโรฮิงญาต้องเผชิญ
เมื่อรัฐบาล NLD ขึ้นบริหารประเทศในเดือน มี.ค. ซูจีจะตกอยู่ภายใต้แรงกดดันของนานาประเทศในการรับมือปัญหาต่างๆ แต่การกล่าวถึงชาวโรฮิงญาก็จะส่งผลกระทบทางการเมืองในประเทศ เพราะชาวโรฮิงญาไม่เป็นที่ชื่นชอบในพม่า เนื่องจากคนเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ ซึ่งซูจี เสี่ยงที่จะเสียการสนับสนุนหากมุ่งความสนใจมายังชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้
พรรค NLD เผชิญต่อคู่แข่งท้องถิ่นที่มีอิทธิพล คือ พรรคแห่งชาติอาระกัน (ANP) ที่ถูกกล่าวหาว่ายั่วยุปลุกปั่นความรู้สึกต่อต้านชาวมุสลิม และเรียกร้องการเนรเทศชาวโรฮิงญา พรรค ANP ชนะที่นั่งระดับประเทศ 22 ที่จาก 29 ที่จากรัฐยะไข่ และได้ที่นั่งในสภาท้องถิ่นของรัฐอีก 22 จากทั้งหมด 35 ที่นั่ง นับเป็นหนึ่งในพรรคชาติพันธุ์ที่แสดงผลงานได้ดีในการเลือกตั้ง
“ไม่ว่าเราจะทำหรือไม่ทำอะไรเราก็ถูกต่อว่า” วิน เต็ง แกนนำอาวุโสของพรรค NLD กล่าว พร้อมให้เหตุผลว่า การช่วยเหลือชาวโรฮิงญาจะทำให้พรรค ANP มีเหตุผลเพียงพอที่จะวิจารณ์พรรค NLD
แม้ว่าหลายคนจะอาศัยในพม่ามาหลายชั่วอายุคน แต่ชาวโรฮิงญาไม่ได้อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทางการยอมรับทั้งหมด 135 กลุ่ม ตามกฎหมายพลเมืองของประเทศ และยังถูกจำกัดสิทธิต่างๆ
ชาวโรฮิงญาจำนวนมากถือเอกสารประจำตัวชั่วคราวที่เรียกว่า บัตรขาว ที่อนุญาตให้พวกเขาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ แต่ประธานาธิบดีเต็งเส่ง มีคำสั่งยกเลิกบัตรขาวในปีนี้
“เราไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตราบเท่าที่ประชาคมโลกยังสนับสนุน และช่วยเหลือชาวเบงกาลี” โพน มิน รองหัวหน้าพรรค ANP กล่าว โดยใช้คำจำกัดความตามที่รัฐบาลใช้เรียกชาวโรฮิงญา
นู บากุม และชาวโรฮิงญาอีกหลายพันคนถูกกักตัวราวนักโทษในค่ายผู้ลี้ภัยชานเมืองสิตตเว
นับจนถึงตอนนี้ พรรค NLD ได้เสนอเพียงเล็กน้อยถึงแนวทางนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมที่จะจัดการต่อสถานะพลเมืองของชาวโรฮิงญา หรือการตั้งถิ่นฐานใหม่ และบูรณาการเข้าสู่ชุมชนที่พวกเขาถูกบังคับให้หลบหนีออกมา
แต่ความคิดเห็นแรกหลังการเลือกตั้งของ วิน เต็ง แกนนำอาวุโสของพรรค ต่อกฎหมายพลเมืองที่ปฏิเสธสิทธิสถานะพลเมืองอย่างสมบูรณ์ของชาวโรฮิงญา แสดงให้เห็นว่า ความหวังของชาวโรฮิงญายังพอมีอยู่
“กฎหมายต้องถูกทบทวนเพราะมันมากเกินไป...ทบทวนกฎหมายนั่น และแก้ไขในส่วนที่จำเป็นเพื่อที่เราจะสามารถพิจารณาคนที่อยู่ในประเทศของเราอยู่แล้วได้ ซึ่งอาจเป็นคนรุ่นที่ 2 ที่จะได้รับการพิจารณาเป็นพลเมือง” วิน เต็ง กล่าว
วิน เต็ง กล่าวว่า เขาต้องการให้ฝ่ายบริหารของพรรค NLD อนุญาตให้ชาวโรฮิงญาตั้งถิ่นฐานที่ไหนก็ได้ในประเทศ เพื่อลดภาระของรัฐยะไข่ แต่ยังไม่ชัดเจนว่า วิน เต็ง ที่เป็นหนึ่งในนักการเมืองที่มีอิทธิพลมากที่สุดในพรรค NLD กำลังกล่าวในนามของพรรค หรือเพียงแค่แสดงความคิดเห็นส่วนตัว
โพน มิน จากพรรค ANP ได้แสดงความเห็นที่ต่างออกไป โดยกล่าวว่า กฎหมายเป็นทางแก้ปัญหา
“หากพวกเขาปฏิบัติตามกฎหมาย ปัญหาก็จะถูกแก้ไข หากชาวเบงกาลีเหล่านี้สมควรได้สถานะพลเมืองตามกฎหมาย พวกเขาก็จะได้” โพย มิน กล่าว
ซูจี ไม่เคยเดินทางเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยที่เป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนกว่า 140,000 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา หลายคนยังคงเชื่อว่า รัฐบาลของซูจีจะเห็นอกเห็นใจมากกว่าพรรคสหภาพสามัคคีและการพัฒนา ที่ก่อตั้งขึ้นโดยอดีตรัฐบาลเผด็จการทหาร และนำโดยนายทหารเกษียณอายุ
โมฮัมหมัด โซลิม อายุ 32 ปี รู้สึกโกรธแค้นที่ถูกกีดกันสิทธิในการเลือกตั้งเช่นเดียวกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยอีกจำนวนมาก กล่าวว่า พวกเขาหวังว่านับตั้งแต่ที่พรรค NLD ชนะ พวกเขาจะได้เสรีภาพ.