xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ชี้การปราบปรามทางทหารของพม่าอาจดึงผู้ก่อการร้ายต่างชาติเข้ามาในพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



เอพี - การปราบปรามทางทหารของพม่าที่ทำให้ชาวมุสลิมโรฮิงญากว่าครึ่งล้านชีวิตต้องหลบหนีไปบังกลาเทศ อาจบ่อนทำลายความมั่นคงของภูมิภาค และดึงผู้ก่อการร้ายต่างชาติเข้ามา กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุ

แพทริก เมอร์ฟี เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ กล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการด้านกิจการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎร ว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงต้องรับผิดชอบต่อการตอบโต้ที่ไม่เหมาะสมต่อการโจมตีของผู้ก่อการร้ายโรฮิงญาเมื่อ 6 สัปดาห์ก่อน โดยเปรียบเทียบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เป็นโศกนาฏกรรมของมนุษย์ แทนการระบุว่า เป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์อย่างที่สหประชาชาติกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งเรียกเสียงคัดค้านจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนอื่นๆ

“เราระบุว่านี่เป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์” เอ็ด รอยซ์ ส.ส.พรรครีพับลิกัน กล่าว

เมอร์ฟี กล่าวว่า นอกเหนือไปจากชาวโรฮิงญากว่าครึ่งล้านคนที่ต้องหลบหนีไปบังกลาเทศ ยังมีผู้คนอีกราว 200,000 คน ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นในรัฐยะไข่ แม้รัฐบาลรับรองว่าปฏิบัติการด้านความมั่นคงจะยุติลงไปกว่า 1 เดือนแล้วก็ตาม แต่ยังมีรายงานว่า มีการวางเพลิงเผาบ้านชาวโรฮิงญา และการขัดขวางความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

“ประชาธิปไตยระยะแรกเริ่มของพม่าอยู่ในช่วงจุดเปลี่ยน และการตอบโต้อย่างรุนแรงยิ่งดึงดูดผู้ก่อการร้ายต่างชาติ และความท้าทายสำหรับประเทศเพื่อนบ้าน” เมอร์ฟี กล่าว

สหรัฐฯ ได้หารือถึงสถานการณ์ในพม่ากับประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนต่อการโจมตีของผู้ก่อการร้าย และความรุนแรงของกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งเช่นกัน

เอเลียต เอนเกล ส.ส.จากเดโมแครต กล่าวว่า สหรัฐฯ ควรพิจารณามาตรการคว่ำบาตรต่อผู้นำทหาร และธุรกิจของพม่า ที่ถูกยกเลิกไปในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา เพื่อเป็นรางวัลให้แก่การเปลี่ยนแปลงของพม่าจากการปกครองภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารมาสู่ระบอบประชาธิปไตย

เมอร์ฟี กล่าวว่า ฝ่ายบริหารสหรัฐฯ กำลังสำรวจตัวเลือกทั้งหมดที่มีที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และระบุว่า พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพพม่า มีหน้าที่ยับยั้งความรุนแรง และจัดการต่อภัยคุกคามด้านความมั่นคงด้วยวิธีการที่เหมาะสม

เอนเกล กล่าวว่า ภาพถ่ายดาวเทียม และพยานชี้ว่า ทหาร และกองกำลังรักษาความมั่นคงของพม่าดำเนินการนโยบายปราบปรามอย่างตั้งใจ และเป็นระบบที่จะขับไล่โรฮิงญาออกจากบ้านของพวกเขาในพม่า และเผาหมู่บ้านของคนเหล่านั้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น