เอเจนซีส์ - อองซานซูจี กล่าวหากลุ่มติดอาวุธโรฮีนจาเป็นฝ่ายก่อความรุนแรงและใช้ทหารเด็กเป็นกองหน้าในการปะทะครั้งล่าสุดในรัฐยะไข่ ขณะที่โรฮีนจาโต้กลับว่า กองทัพพม่าต่างหากที่นำชาวพุทธหัวรุนแรงเข้าปล้นฆ่าและเผาทำลายบ้านเรือนในหมู่บ้านของชาวโรฮีนจา รวมทั้งยังใช้พลเรือนเป็นโล่มนุษย์
ถึงแม้ประชากรส่วนใหญ่ในพม่านับถือศาสนาพุทธ แต่ยังมีชาวโรฮีนจา (หรือโรฮิงญา) ซึ่งนับถือศาสนามุสลิมประมาณ 1 ล้านคนอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ ทางตอนเหนือของประเทศ และกำลังเป็นพื้นที่ที่เกิดเหตุปะทุรุนแรงในขณะนี้
รัฐบาลพม่านั้นไม่ยอมรับชาวโรฮีนจาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่กลับเรียกว่า เบงกาลี ซึ่งหมายถึงผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ และชาวโรฮีนจาส่วนใหญ่ถูกปฏิเสธความเป็นพลเมือง
สำหรับการปะทะในรัฐยะไข่ระลอกล่าสุดนี้ปะทุขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว เมื่อกลุ่มติดอาวุธโรฮีนจาเข้าโจมตีกองกำลังความมั่นคงของพม่าหลายครั้ง นำไปสู่การกวาดล้างครั้งใหญ่ที่สหประชาชาติเชื่อว่า อาจเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่า กองทัพพม่าละเมิดสิทธิมนุษยชนมุสลิมโรฮีนจาอย่างร้ายแรง โดยมีทั้งการเข่นฆ่าสังหาร การข่มขืน การเผาบ้านเรือนและอาคารอื่นๆ นับพันหลัง
ในวันศุกร์ที่ผ่านมา (25) เกิดความรุนแรงครั้งใหม่ เมื่อกลุ่มติดอาวุธเปิดฉากโจมตีพร้อมกันกว่า 25 จุด ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน ในจำนวนนี้เป็นสมาชิกกลุ่มติดอาวุธ 80 คน และเจ้าหน้าที่ความมั่นคงพม่า 12 คน นอกจากนั้นยังทำให้ชาวโรฮีนจาหลายพันคนหลบหนีมุ่งหน้าสู่บังกลาเทศ ขณะที่ชาวพุทธและฮินดูในยะไข่หลบหนีไปอยู่ในเมืองและวัดที่อยู่ไกลจากบริเวณที่มีการต่อสู้
ทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหากันซึ่งเป็นเรื่องที่ยากพิสูจน์ เนื่องจากการต่อสู้ยังดำเนินต่อเนื่อง และรัฐบาลพม่าห้ามผู้สื่อข่าวเข้าไปในพื้นที่
ในวันอาทิตย์ (27) สำนักงานที่ปรึกษาแห่งรัฐซึ่งอยู่ในการบริหารโดยตรงของซูจี ออกคำเตือนอย่างเป็นทางการถึงสื่อบางกลุ่มที่เรียกกลุ่มติดอาวุธโรฮีนจาว่า “กลุ่มต่อต้านรัฐบาล” แทนที่จะเป็น “ผู้ก่อการร้าย”
ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์(25) รัฐบาลพม่าประกาศว่า กองทัพกอบกู้โรฮีนจาแห่งรัฐยะไข่ (ARSA) ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้ ถือเป็นกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งหมายความว่า การติดต่อกับกลุ่มนี้เข้าข่ายละเมิดกฎหมายพม่า และคำแถลงในวันอาทิตย์ยังระบุชัดเจนให้สื่อหลีกเลี่ยงการเขียนข่าวสนับสนุน ARSA
ต่อมาในวันจันทร์ (28) สำนักงานที่ปรึกษาแห่งรัฐออกคำแถลงผ่านบัญชีเฟซบุ๊ก โดบมีภาพพลเมืองที่ถูกระบุว่าถูกกลุ่มติดอาวุธยิงตายประกอบด้วย ทั้งนี้ คำแถลงกล่าวหาว่ากลุ่มก่อการร้ายเผาสถานีตำรวจ วัดวาอาราม หมู่บ้านชนกลุ่มน้อย สังหารผู้บริสุทธิ์ และวางกับดักระเบิด รวมทั้งยังต่อสู้กับกองกำลังความมั่นคงของพม่าโดยใช้ทหารเด็กเป็นกองหน้า ทั้งนี้ เพื่อบ่อนทำลายความพยายามในการสร้างสันติสุขและความปรองดองในยะไข่
คำแถลงย้ำว่า พลเมืองโรฮีนจาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ก่อการร้ายหัวรุนแรง ไม่จำเป็นต้องวิตกกังวล รวมทั้งยังเรียกร้องชาวโรฮีนจาให้ความร่วมมือกับกองกำลังความมั่นคง และอย่ากวัดแกว่งไม้ มีด และอาวุธต่างๆ ขณะที่กองกำลังความมั่นคงเคลื่อนเข้าใกล้
ทางด้าน ARSA ตอบโต้รัฐบาลพม่าทันทีผ่านทวิตเตอร์ว่า ทหารพม่าที่โหดร้ายทารุณนำชาวพุทธหัวรุนแรงในยะไข่ ได้เข้าโจมตี ปล้นฆ่าและเผาทำลายบ้านเรือนในหมู่บ้านของชาวโรฮีนจา อันเป็นสาเหตุให้ชาวบ้านต้องหนีไปหลบอยู่ตามภูเขาหรือหาทางข้ามแดนไปบังกลาเทศ และยังกล่าวหาว่า กองทัพพม่าใช้พลเรือนเป็นโล่มนุษย์
ARSA ยอมรับว่า เปิดฉากโจมตีเมื่อวันศุกร์ (25) เพื่อป้องกันชุมชนโรฮีนจาจากกองทัพพม่า
อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลพม่าประกาศรับประกันความปลอดภัยของพลเรือนโรฮีนจา ปรากฏว่าไม่ค่อยได้ผลอะไร โดยยังมีชาวโรฮีนจามากมายหลั่งไหลไปยังบังกลาเทศ แม้ว่า บางคนจะถูกทางการบังกลาเทศส่งตัวกลับก็ตาม
ชาวโรฮีนจาบางคนที่สามารถหลบหนีไปได้ เปิดเผยว่า กลุ่มชาวพุทธหัวรุนแรงและกองกำลังความมั่นคงของพม่าไล่ยิงและเผาบ้านของพวกตน และสำทับว่า ชายฉกรรจ์หลายคนยังปักหลักสู้ต่อ ขณะที่ชาวบังกลาเทศบอกว่า เห็นเฮลิคอปเตอร์หลายลำของกองทัพพม่าบินวนอยู่ในน่านฟ้าพม่า
ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา ตลอดจนถึงกลุ่มสิทธิมนุษชนบางกลุ่มที่ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมติดตามการต่อสู้ กล่าวหากองทัพพม่าเผาทำลายทุกสิ่งที่ชาวโรฮีนจาทิ้งไว้ เพื่อไม่ให้กลับไปใช้ประโยชน์ได้อีก
อย่างไรก็ดี นักเคลื่อนไหวและผู้สนับสนุนของทั้งสองฝ่ายต่างเคยมีประวัติโพสต์ภาพถ่ายและคลิปปลอมออนไลน์มาก่อน