รอยเตอร์ - สื่อต่างประเทศรายงานว่า โพสต์เฟซบุ๊กของกองทัพพม่าที่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการเปิดฉากปราบปรามผู้ก่อการร้ายโรฮิงญาเมื่อเดือนก่อนนั้น เวลานี้ไม่ปรากฏให้เห็นบนหน้าเพจเฟซบุ๊กเช่นเดิม
โพสต์ต่างๆ บนหน้าเพจเฟซบุ๊กของสำนักงานผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 1-29 ส.ค. ดูเหมือนจะถูกซ่อนไว้ ซึ่งเนื้อหาของโพสต์เกี่ยวข้องต่อดำเนินการต่างๆ ของทหาร รวมทั้งการดำเนินการที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทางตะวันตกประเทศ
โพสต์ที่ยังสามารถพบได้ด้วยการใช้คำค้นหา หรือระบุวันที่เจาะจง ยังรวมถึงรายละเอียดการดำเนินการของกองทัพที่เกิดขึ้นหลังเกิดเหตุผู้ก่อการร้ายโจมตีกองกำลังรักษาความมั่นคงเมื่อวันที่ 25 ส.ค.
แต่ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าโพสต์เหล่านั้นหายไปเมื่อใด และด้วยเหตุผลใด แต่โพสต์ต่างๆ ไม่สามารถมองเห็นได้ในวันอาทิตย์ วันจันทร์ หรือวันอังคาร จากหลายสถานที่ทั่วเอเชีย
“เราไม่ได้ซ่อนอะไร อาจมีความผิดพลาดบางอย่าง” โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าว
ด้านโฆษกกระทรวงมหาดไทยพม่าระบุว่า ไม่ทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้
โฆษกเฟซบุ๊ก กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการตัดสินใจของผู้ดูแลเพจที่อาจซ่อนโพสต์หากพวกเขาต้องการเช่นนั้น
ชาวโรฮิงญาประมาณ 480,000 คน ได้หลบหนีไปบังกลาเทศตั้งแต่ทหารเริ่มตอบโต้การโจมตีของกลุ่มผู้ก่อการร้าย และสหประชาชาติได้อธิบายการปราบปรามของทหารว่า เป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ ซึ่งพม่าได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาโดยระบุว่า การปราบปรามผู้ก่อการร้ายเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงที่สหประชาชาติตั้งขึ้นกำลังดำเนินการตรวจสอบข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยทหาร และกองกำลังรักษาความมั่นคง โดยเฉพาะในรัฐยะไข่
หน้าเพจเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการของทหารแสดงให้เห็นช่องว่างเกือบ 1 เดือน ระหว่างโพสต์วันที่ 31 ก.ค. และโพสต์ถัดมาในวันที่ 30 ส.ค.
เช่นเดียวกับองค์กรข่าวอื่นๆ รอยเตอร์ใช้ข้อมูลจากโพสต์ต่างๆ ในการรายงานข่าวในช่วงเริ่มต้นของวิกฤตเดือน ส.ค. แต่อย่างไรก็ตาม โพสต์ในช่วงเดือน ส.ค. ยังคงสามารถมองเห็นได้หากค้นหาด้วยวันที่ หรือคำสำคัญ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า โพสต์เหล่านั้นไม่ได้ถูกลบ แต่ถูกนำออกไปจากหน้าไทม์ไลน์ด้วยการใช้เครื่องมือ “ซ่อน” ของเฟซบุ๊ก
โพสต์เดือน ส.ค. ที่ถูกซ่อนไว้ ยังรวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการปะทะกับกลุ่มก่อการร้าย ที่มักมาพร้อมกับรูปภาพ และโพสต์แรกของทหารเกี่ยวกับการโจมตีวันที่ 25 ส.ค. ได้แนบแผนที่ที่แสดงให้เห็นด่านตำรวจ และค่ายทหารที่ถูกโจมตี
หน้าเพจเฟซบุ๊กของทหารกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้งหลังวันที่ 31 ส.ค. ด้วยจำนวนโพสต์มากกว่า 360 โพสต์ในเดือน ก.ย. ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวข้องต่อปฏิบัติการในรัฐยะไข่.